ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







คำว่า สอน ไม่ดีตรงไหน

เนื่องจากมีอาชีพเป็นครูจึงมีความเข้าใจว่าการเป็นครูคือการสอนนักเรียนให้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต การสอนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ แต่มาบัดเดี๋ยวนี้ถ้าครูคนไหนพูดคำว่าสอนละก็จะโดนปรมาจารย์รุ่นน้องใหม่ค้อนค่อนแคะนินทาว่า ครูคนนี้แกยังสอนอยู่เลย เชยชะมัด เวลาประชุมกันจะพูดคำนี้ออกมาไม่ได้เลย ในหมู่ผู้ทรงคุณวุฒิละก็ต้องเน้นคำว่าสอนไว้ให้แน่นเชียว เพื่อนคนหนึ่งโกรธหนักโกรธหนามาบ่นให้ฟังว่า ไม่รู้จะไม่รังเกียจรังงอนกับคำว่า สอน.มันทำไม เพราะตั้งแต่เป็นครูมาก็ใช้คำนึ้มาตั้งครึ่งศตวรรษแล้ว ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเพื่อความทันสมัยก็ต้องลืมคำนี้ไปเลย เพื่อนก็เลยย้อนกลับมาว่าก็เอามันออกไปจากพจนานุกรมเสียซิจะได้ไม่ต้องนำมาใช้ให้รกใจกันอีก การถกเถียงกันก็มักจะเกิดขึ้นกับครูแก่กับครูเด็ก ครูแก่ก็ว่าครูไม่ได้คู่กับการสอนหรือ ในเมื่อเป็นครูเขาก็บอกให้สอนหนังสือ ครูเด็กก็บอกว่าก็เพราะครูสอนหนังสือ ไม่ได้สอนนักเรียน ก็เลยทำให้นักเรียนกลายเป็นควายเซนเตอร์ ก็ว่ากันไป ครูแก่ก็พึมพำว่างั้นพวกครูเด็กเหล่านี้ก็ยอมรับตัวเองว่าโง่ซี เพราะเธอถูกพวกครูแก่เหล่านี้สอนมา สรุปว่า ตกลงจะให้ครูทำอะไรในชั้นเรียน  

ความจริงแล้วการสอนไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจจนต้องเปลี่ยนมาใช้คำอื่นที่ดูว่าทันสมัย ของเพียงแต่ว่าครูรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และผลลัพธ์ของการกระทำนั้นสร้างผลกระทบอะไรต่อมา รู้สึกชอบใจคำพูดของผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียที่กล่าวว่า รัฐมีงบประมาณที่เพิ่มจากเดิมให้แก่โรงเรียนซึ่งจะถึงตัวเด็กในห้องเรียนและครูคนที่เอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างดี  คำว่า ครูคนที่เอาใจใส่เด็กดีเท่านี้มีความหมายที่ลึกซึ้งทั้งในด้านการเรียนการสอน เนื้อหาวิชา การจัดการความรู้ให้ผู้เรียนรวมทั้งดูแลด้านสุขภาพส่วนตัวของเด็กด้วย การประเมินโรงเรียนก็ตามมา ประเมินครูผู้สอนและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ก็มีการโต้ตอบด่าว่ากัน ประท้วงกันค่อนข้างรุนแรงเป็นธรรมดา  ถ้าครูคือคน ปุถุชนคนเดินดินที่ไม่พัฒนาความคิดให้ออกไปจากตัวตนที่ลึกซึ้งกว่านี้

วิสามัญสำนึก

การสอนแบบเดียวกันมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้เสมอ การเรียนการสอนอยู่ที่องค์ประกอบหลายประการ เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ความคิดรวบยอดของสาระ กระบวนการจัดการเรียนรู้และอยู่ที่กระบวนการและผลลัพธ์ปลายทางที่วางไว้ การเปลี่ยนคำให้แตกต่างเพื่อบ่งบอกถึงความทันสมัยไม่อาจช่วยให้การให้การศึกษามีประสิทธิภาพได้ จากบทความหนึ่งของ กล่าวว่า การสอนกับสามัญสำนึกคือ ทำให้การเรียนการสอนเป็นธรรมชาติ มีสาระในเรื่องที่เรียนและเรียนแบบมีชีวิตชีวา    

พฤติกรรมของครูในชั้นเรียนว่าจะเรียกว่าสอนหรือการจัดการเรียนรู้ก็ไม่มีความแตกต่างกัน   ความจริงแล้วการเรียกว่าอย่างไรไม่สำคัญ สำคัญว่าครูปฏิบัติอย่างไรในห้องเรียนที่ทำให้ลูกศิษย์มีฐานความความรู้เพื่อนำไปคิดต่อได้อย่างต่อเนื่อง มีฐานความรู้อยู่กับตัว แต่อย่าให้การสอนไม่ใช่เอาแต่เนื้อหาที่นำไปให้เด็กนั่งบอกจดแล้วกำชับว่าครูจะออกข้อสอบตามนี้ ทำให้เด็กไม่เกิดความคิดตามซึ่งถ้าเด็กเกิดความคิดตามก็จะต้องมีข้อสงสัยซักถามได้บ้าง หรือครูก็อาจจะกระตุ้นให้เด็กได้เกิดแนวคิดของตนครูต้องพยายามตะล่อมให้เข้าสู่ประเด็นและสรุปสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่เอาแต่ความคิดของตนเป็นสรณะแบบกำปั้นทุบดิน ฉันว่าใช่ก็ต้องใช่ การตอบโต้ซักถามความคิดจะสร้างความรู้สึกที่กระตือรือร้นอยากค้นคว้าหาความรู้มาเพิ่มเติม และอย่าลืมเติมความสุขในขณะเรียนให้เขาด้วยก็แล้วกัน  ส่วนการสอนแบบพูดมาก ๆ ที่ทำให้ทั้งนักเรียนและครูดูแล้วเหมือนนกแก้วนกขุนทองก็ควรจะเลิกได้แล้ว ครูไม่ควรพูดมากแบบครูรู้คนเดียว แต่ควรฝึกการใช้คำถามให้นักเรียนได้มีโอกาสพูดตอบโต้บ้าง หรือจุดประกายให้นักเรียนอยากรู้แล้วไปค้นหาต่อแล้วให้มารายงานในชั้นเรียนก็ทำได้ แต่ข้อสำคัญครูก็ต้องมีความรู้ใส่ใจหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาอภิปรายต่อยอดกับนักเรียนด้วย อย่าเป็นครู ที่ขอไปทีก็แล้วกัน ไม่ใช่เออ ออ ไปเรื่อยเพราะครูก็ไม่รู้เหมือนกัน จะทำให้นักเรียนงงจับประเด็นไม่ได้ พอรายงานเสร็จถ้าให้ส่งรายงาน ครูก็ต้องตรวจ อย่าเก็บเอาไว้ทิ้ง ตอนสอบครูนี่ซิเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่าจะเอาอย่างไหนดี ถ้าออกข้อสอบแบบเช็ค ๆ ก็สะดวกทั้งผู้เรียนและผู้สอน เนื้อหาที่เอามาออกข้อสอบก็จากเอกสารที่ครูแจกให้มันชัวร์ดี (คิดเอาเอง) แต่ถ้าออกแบบอัตนัยก็จะตรวจไม่ทันส่งคะแนนตามเวลาจะโดนลงโทษอีก แต่อย่าให้การออกข้อสอบอัตนัยเป็นการขัดตาทัพเพราะไม่มีเวลาออกข้อสอบ อะไรก็ตามที่ครูทำตรงกันข้ามกับที่เขียนมานี้เรียกว่าเป็นการสอนแบบวิสามัญสำนึก   

คิดไม่ถึง

ในการเรียนการสอน ครูก็จะพยายามเชียร์ให้เด็กเล่นกิจกรรมแข่งขันกันโดยใช้รางวัลเป็นเครื่องล่อใจ  นักศึกษาครูคนหนึ่งจึงคิดออกแบบวิธีการให้รางวัลสำหรับเด็กชั้น ป. 1 โดยให้รางวัลอยู่ในกล่องที่ทำเป็นรูปสิ่งโตหมอบอ้าปาก เงื่อนไขมีอยู่ว่าถ้ากลุ่มใดจัดเก็บสิ่งของบนโต๊ะให้เข้าที่เสร็จก่อนก็จะได้ล้วงมือลงไปจับของรางวัลที่อยู่ในกล่องสิงห์โตอ้าปาก  ผลคือเด็กทุกคนนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว พอถามได้ความว่า ไม่อยากชนะ เพราะหนูกลัวที่จะต้องเอามือล้วงคอสิงโต กลัวมันงับเอา ครูเล่นอะไรไม่รู้ การให้เอามือล้วงปากสิงโตมันน่ากลัวมากสำหรับหนูนะ

© Copyright 2010. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com