ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







เที่ยวห้างให้สนุกกับลูกสุดที่รัก

ในปัจจุบันการเดินเล่นช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้ากลายเป็นทางเลือกหนึ่งของครอบครัวบางครอบครัวที่จะใช้เป็นการพักผ่อนเพื่อคลายความเครียดและเปลี่ยนบรรยากาศที่จำเจ  เพราะในห้าง ฯ ที่ใหญ่ ๆ นั้นนอกจากจะมีสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคทั้งที่จำเป็นจริง ๆและอ้างว่าจำเป็นให้เลือกซื้อกันอย่างหนาแน่นแล้ว   ก็ยังมักจะมีสวนอาหารที่มีร้านอาหารเป็นจำนวนมากมาเช่าที่ขายอาหารหลากหลายประเภทให้เลือกรับประทานกันในราคาแพงพอประมาณและยังมีสวนเด็กเล่นที่ครอบครัวได้เป็นอย่างดีได้เหมือนกัน    ทำให้ได้บรรยากาศที่น่ารักสำหรับครอบครัวได้เป็นอย่าดี  ถ้าพ่อแม่ไม่บังเอิญไปเจอพิษลูกร้องจะเอาของเล่น  และไม่ยอมจำนนต่อสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น จนเกิดอาการกลุ้มชุลมุนขึ้นมาเสียก่อนปัญหาจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะทำให้การกระทำกิจกรรมในวันนั้นราบรื่น สุโขสโมสรกันถ้วนหน้า  พ่อแม่หลายคนคงจะได้เคยพบปัญหาลูกแผลงฤทธิ์ในห้างสรรพสินค้ามาแล้วซึ่งทำให้เกิดความเข็ดขยาดกันไปอีกนาน  มีผู้ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรกับพฤติกรรมเช่นว่านี้ เพราะการที่จะบอกว่าให้ตัดปัญหาด้วยการไม่พาไปด้วยเสียก็หมดเรื่อง    เป็นการแกปัญหาที่ไม่น่าจะถูกทางและในบางครั้งก็ไม่สามารถจะทำได้   เพราะจะต้องปล่อยลูกไว้ที่บ้านคนเดียวซึ่งคงทำไม่ได้แน่ ถ้าโชคดีมีพี่เลี้ยง  มีคุณยายคุณตา หรือญาติผู้ใหญ่รับที่จะดูแลให้ ก็อาจจะทำได้ แต่โอกาสที่พ่อแม่ลูกจะได้ทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกันอย่าง ง่าย ๆ ก็จะหมดไปอย่างน่าเสียดาย     

นักจิตวิทยาได้เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาไว้  2 วิธี คือ วิธีแรก ให้นำของเล่นสุดรักสุดหวงไปด้วย  ให้เขาถือไว้เล่นด้วยตัวเอง  (เลือกชิ้นที่นำไปได้) เพราะการที่เด็กมีของเล่นที่ตนเองพอใจอยู่ในมือแล้วก็มักจะไม่ใคร่สนใจของเล่นอื่น ๆ มากนัก เพราะมัวแต่จะคอยสนใจกับสิ่งที่อยู่ในมือของตน และที่สำคัญพ่อแม่จะต้องมองเห็นความสำคัญขององเล่นชิ้นนั้นไปกับลูกด้วยก็จะยิ่งทำให้เกิดคุณค่ามากยิ่งขึ้น  

สำหรับวิธีที่ 2 นี้เป็นวิธีที่จะใช้สำหรับเด็กที่โตที่รู้จักการใช้เงินเพื่อแลกซื้อสิ่งของได้แล้ว  พ่อแม่จะต้องทำการตกลงในเงื่อนไขสัญญาในการที่จะใช้เงินชื้อของที่ลูกต้องการในวงเงินที่จำกัด  เช่น  ให้เงินลูกไว้ 50 บาท เพื่อลูกจะได้เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะใช้เงินจำนวนนี้ทำอะไรหรือซื้ออะไรก็ได้ที่เขาต้องการ  ถ้าเงินหมดก็หมายความว่า  เขาก็จะหมดโอกาสในการได้ของที่เขาต้องการชิ้นต่อไป  แต่ส่วนมากแล้วเด็กก็จะต้องการได้ของแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  เพราะเมื่อเขาได้สิ่งที่พอใจแล้วเขาก็จะชื่นชมกับสิ่งที่ได้และความต้องการก็จะหยุดพักไประยะหนึ่ง

จากข้อแนะนำทั้ง  2  วิธีนี้ ก็คงจะพอเป็นแนวทางในการที่จะจัดการกับปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ของลูกไปได้บ้าง  แต่อย่างไรก็ตามถ้าพ่อแม่ลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในวัยของลูกดูบ้างบางทีปัญหาที่ว่านี้ก็คงจะไม่หนักหนาอะไรนัก เพราะความจริงแล้วก็เป็นปัญหาที่เกิดได้กับทุก ๆ คนและทุกสมัยเหมือนกับว่าเป็นวงจรของบาปบุญคุณโทษ ที่ต้องชดใช้กันในชาตินี้ให้เสร็จสิ้นกันไป อย่าไปคิดมากเลย           

© Copyright 2005. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com