ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







นินทาจ๋าจ้ะ

 

            มนุษย์ได้ขื่อว่าเป็น  "สัตว์สังคม" ก็เพราะชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และเมื่อมีการรวมกลุ่มก็จะต้องมีการพูดคุยกัน ถ้าไม่ตาบอด หูหนวก และเป็นใบ้ ทั้งกลุ่ม ส่วนเรื่องที่นำมาพูดคุยกันนั้นก็มีหลายเรื่อง หลายประการ แต่เรื่องที่ทำให้การพูดคุยออกรสออกชาติและเป็นที่สนอกสนใจของผู้ฟังก็คงจะไม่มีอะไรมาเทียบเทียมการพูดเรื่องของคนอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องของเรา  แต่เรานึกว่าใช่  ก็เลยนำมาเล่าให้รู้กันโดยทั่วๆกัน ถ้ามีโอกาส ซึ่งการกระทำเช่นนี้ได้มีการบรรญัติในพจนานุกรมว่าการเล่าเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนให้คนอื่นฟัง ว่า " การนินทา" คำ ๆ นี้เป็นคำที่มีความหมายที่ค่อนข้างจะเป็นลบ คือ ไม่ดี ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในเชิงจริยธรรม ทั้งยังเป็นพฤติกรรมต้องห้าม ไม่เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญ ไม่น่าคบหาสมาคม รวมทั้งไม่น่าไว้วางใจด้วย คนพวกนี้มักจะมีฉายาว่า " ปากบอน" " ปากกระโถน"  " ปากหอยปากปู"   ฯลฯ

ความจริงแล้วการที่จะสังเกตพฤติกรรมของคนว่ากำลังเล่า หรือเม้าหรือ นินทา เรื่องของคนอื่นกันนั้นทำได้ไม่ยาก เนื่องคนที่ทำพฤติกรรมมักจะรู้ตัวและยังตระนักด้วยว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ดังนั้นคนที่ทำกำลังพฤติกรรมนี้จึงมีปากัปกิริยาที่ดูออกจะแปลก ๆ อยู่ชอบกล เช่น:

1. สายตาของผู้ที่กำลังนินทาผู้อื่นอยู่นั้นมักจะกลอกกลิ้งไปมา ในลักษณะลอกแล็ก และจะไม่จับสายตาอยู่ที่คู่สนทนา  เนื่องจากเขาจะต้องระวังระไว ด้วยเกรงว่าจะมีใครเข้ามาใกล้รัศมีและได้ยินคำนินทา โดยเฉพาะเจ้าของเรื่องที่กำลังละเลงอย่างสนุกปาก      

2. ผู้ที่กำลังนินทามักจะหยุดเรื่องที่กำลังพูดอย่างกะทันหันและเปลี่ยนเรื่องพูดในลักษณะที่ตะกุกตะกัก เอ้อ ๆ อ้า ๆ หือ ๆ อือ ๆ ในทันทีที่มีคนอื่นโผล่เข้ามาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว     

3. น้ำเสียงที่พูดมักจะเบากระซิบกระซาบ แต่ก็จะมีการปรับเปลี่ยนเสียงกระทันหันเมื่อมีสิ่งบ่งชี้ผิดปกติเกิดขึ้น น้ำเสียงจากที่พูดเบา ๆ ก็จะเป็นการพูดเสียงดังทันที จนบางครั้งผู้ร่วมฟังหรือลูกคู่ขุนพลอยพยักตกอกตกใจ เพราะไม่ทันระวังตัวก็มี        

4. กลุ่มจะมีอาการของผื้งแตกรังในทันทีที่มีผู้ไม่พึงปะสงค์จะให้ฟัง แต่พึงประสงค์กล่าวถึงเข้ามาอย่างไม่รู้กาลเทศะ แต่ก็จะเป็นไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น   เพราะถ้าเรื่องที่นินทานั้นยังไม่จบแถมยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจด้วยแล้ว กลุ่มก็จะกลับมารวมตัวกันอีกโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็วในทันทีที่เคลียพื้นที่เรียบร้อย          

5. มักจะมีสัญญาณแปลก ๆ เกิดขึ้นภายในกลุ่มคนฟัง เช่น ทำตากระยิกระยับ  เลิกคิ้วโดยไม่มีสาเหตุ ทำเสียงกระแอม กระไอเหมือนยังกับมีอะไรติดคอขึ้นมาทันที หรือไม่ก็มีอาการคล้ายอยากที่จะลุกไปที่อื่น กระสับกระส่าย นั่งหรือยืนไม่ติด คันไม้คันมือ ก็จะไม่ให้มีอาการเช่นว่านั้นได้อย่างไร ก็คนที่เพื่อนเรากำลังบรรยายสรรพคุณของเขาอยู่นั้นกำลังยืนฟังรวมอยู่ด้วยโดยที่คนบรรยายไม่เห็น  และถ้ายิ่งเป็นเจ้านายด้วยแล้ว คนที่กำลังฟังนินทาก็เลยต้องถือโอกาสสวัสดีแล้วเลี่ยงออกไปเลย  ครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น หนอยเจ้าคนเล่ายังทำงง แล้วถามว่า "มึงไหว้กูทำไมวะ เล่าให้ฟังแค่นี้ไม่ต้องขอบอกขอบใจกูหรอก" มีเสียงตอบมาว่า  "กูไม่ได้ไหว้มึง แต่กูไหว้คนที่มึงกำลังนินทา ที่อยู่ข้างหลังมึงนั่นไง เรื่องนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหน้าแตกแบบหมอไม่รับเย็บ และหมอไม่รับที่จะเจรจาด้วยอีกต่างหาก ตัวใครตัวมัน

ความจริงแล้วการนินทาเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ไม่เชื่อลองถามดูก็ได้ว่าใครบ้างที่ไม่เคยนินทาคนอื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว  รับรองหาไม่ได้แน่นอน ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสืบเสาะแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่สมควรรู้และไม่สมควรรู้จนเป็นนิสัยแบบไทย ๆ  เช่น อยากรู้แม้กระทั่งว่าใครลงคะแนนให้เบอร์อะไรในคูหาเลือกตั้งโดยการซูมกล้อง อย่างนี้เขาเรียกว่า “เสือกอยากรู้” แล้วโกหกว่าเอามาประดับไว้เป็นความรู้ แถมยกสุภาษิตว่า “รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม”

ในเรื่องความอยากรู้อยากเห็น จนกลายมาเป็นสอดรู้สอดเห็นนี้เองทำให้อยากที่จะรับฟังข่าวสารของผู้อื่นบ้างนี้เองทำให้เกิดพฤติกรรมการนินทาขึ้น ซึ่งหลายคนคิดมันก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรจริงไหม และการที่ผู้อื่นเล่าข่าวสารต่าง ๆ ให้ฟังนั้นก็ในบางครั้งก็อาจจะนำผลดีมาสู่ผู้นินทา ผู้ฟังการนินทา หรือผู้ถูกนินทาก็ได้เช่นกัน การนินทาหรือการเล่าเรื่องของผู้อื่นนั้นอาจทำให้ได้ข้อคิดเชิงจิตวิทยาสังคมได้เช่นกัน เช่น

1. การนินทาจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้นินทาและผู้ฟังเรื่องนินทานั้นมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี เพราะเวลาที่นินทาใคร เราก็มักจะเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น หาที่ลับตาคนสักแห่งหนึ่งเพื่อการนินทา ถ้าจะยืนก็ต้องยืนอย่างใกล้ชิดกัน หรือถ้าจะนั่งก็มักจะต้องนั่งแบบแทบจะต้องเอาหัวชนกันเลยทีเดียว เพราะเวลาจะนินทาผู้นินทามักจะใช้เสียงที่เบามากจนแทบจะกระซิบกันเลยทีเดียวโดยเฉพาะเมื่อถึงตอนสำคัญที่เป็นไคลแม็คซ์ของเรื่องด้วยแล้ว  แทบจะไม่ได้ยินอะไรเลยจนผู้ฟังต้องโกงคอคนยื่น เงี่ยหูฟังเสียเมื่อยไปเลยไม่รู้ว่าจะกลัวใครได้ยินทั้งๆ ที่ก็แอบพูดกันอยู่ไม่กี่คนไม่มี

ใครอยู่ในบริเวณนั้นเลยก็ตามที

2. การนินทาเป็นการแสดงความไว้วางใจของคนหนึ่งที่มอบให้อีกคนหนึ่ง คนเล่ามักจะบอกคนฟังว่า “รู้แล้วเหยียบให้มิดเลยนะ” ซึ่งหมายความว่าอย่าเอาไปเล่าต่อนะถ้าไม่จำเป็น “ถ้าไม่ใช่เธอละก็ฉันไม่เล่าให้ฟังนะเนี่ย” ซึ่งหมายความว่าเธอเป็นคนหนึ่งในหลาย ๆ คนที่ฉันเลือกที่จะเล่าให้ฟัง   แต่ไม่รู้เป็นอย่างไรเรื่องที่นำมานินทานั้นมักจะเล็ดลอดออกมาได้ทุกทีซีน่า   เพื่อนที่รับฟังคงจะเห็นความจำเป็นที่จะต้องนำไปนินทาต่อกระมัง

3. การนินทาจะทำให้ผู้ฟังรู้เจตคติและค่านิยมของผู้นินทา ว่ามีความรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ เพราะคนที่นินทามักจะสอดแทรกความรู้สึกของตนลงไปในเรื่องที่กำลังนินทานั้น ๆ ด้วย เป็นประโยชน์ต่อการมีปฎิสัมพันธ์กันเพื่อการนินทา

4. การนินทาอาจก่อให้เกิดกระบวนการกลุ่มในการที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ หรือแก้ความเข้าใจเดิม ๆ ที่ผิด ๆ ถูก ๆ ก็ได้  เช่นเมื่อผู้ฟังนินทาได้รับรู้เรื่องเดียวกันนี้จากอีกทางหนึ่งซึ่งอาจจะมีความแตกต่างของมุมมองกันออก ก็จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเก่าผนวกเข้ากันกับข้อมูลใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจก่อให้เกิดเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม หรือกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันขึ้นมาก็ได้ใครจะรู้ แต่ถ้าจะให้ดีละก็ขอให้เป็นข้อมูลที่ไม่ทำร้ายจิตใจคนที่ถูกนินทา จะน่ารักกว่านะ

5. การนินทาก่อให้เกิดความสุขอิ่มเอิบใจ ทำให้ได้ข้อมูลของคนอื่นและยิ่งเมื่อรู้ว่าคนอื่นก็มีปัญหาเหมือนกันแม้จะใช่ปัญหาเรื่องเดียวกันก็ตาม  ทำให้คลายความรู้สึกท้อแท้ไปได้บ้าง เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่มีปัญหา

6. การนินทาเป็นยาคลายความเครียดได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในยุคของโลกานุวัตร ซึ่งมีการกระจายช่าวสารโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสื่อสารราคาแพง และการที่คนคนหนึ่งมีข้อมูลข่าวสารมากอยู่ในตัวเองแต่ไม่สามารถระบายออกไปให้ใครได้บ้าง  ก็จะเกิดความอึดอัดจนถึงขั้นระเบิด เหมือนเพลงของ  คุณใหม่  เจริญปุระ ที่ร้องว่า "อัดเอาไว้หัวใจจะระเบิด" แล้วยิ่งเป็นคนช่างพูดช่างนินทาแล้วด้วย มันจะเครียดเอาง่าย ๆ นะ จะบอกให้ บางคนถึงกับลงไม้ลงมือฉุดกระชากลากจูงแกมบังคับเพื่อนให้มาช่วยฟังหน่อยเพราะ อึดอัดทนไม่ไหวแล้ว พอได้เล่าเรื่องนินทาแล้วก็สบายใจ

จากสุภาษิตโบราณที่กล่าวว่า "การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน แม้องค์พระปฏิมายังราคิน มนุษย์เดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา" ถ้าคิดได้เช่นนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่าความจริงแล้วการนินทาก็ไม่ได้เป็นเรื่องสาหัสสากันอะไรนักหนา และเราเองก็ไม่สามารถที่จะทำให้มันหายสาบสูญไปจากโลกนี้ได้ ดังนั้นเมื่อไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการนินทาได้ก็ขอได้โปรดนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันเท่าที่เห็นสมควรก็แล้วกัน อย่าให้การนินทาของเรานำความสุขมาสู่เรา แต่นำความปวดร้าวไปสู่คนอื่น เพราะจะเป็นการนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่นในวันต่อมาได้ เพราะถ้ามันดีจริงเขาคงไม่เอามันใส่ไว้ช่องพฤติกรรมด้านลบหรอก จึงขอให้มีสติในการนินทาจะได้พาชีวิตให้สุขสันต์ได้ดีไม่ได้รับบาดเจ็บทั้งทางกายและจิตใจทั้งคนนินทาและคนถูกนินา  สวัสดี

 

© Copyright 2006. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com