ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







บ่นแล้วได้อะไร

 การบ่นเป็นอาการของการพูดชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจมีลักษณะของการพูดในระดับเสียงตั้งแต่ค่อยที่สุดเหมือนกับพึมพำคนเดียวจนถึงระดับเสียงที่ดังฟังชัดเจนแล้วแต่อารมณ์และเจตนาของผู้บ่น การบ่นนั้นเป็นการพูดที่ดูเหมือนจะไม่ต้องมีการฝึกหัด หรือเรียนรู้อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ เมื่อคนมีประสบการณ์มากขึ้น ได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และต้องรับผิดชอบเรื่อง ๆ มากขึ้น คนก็จะทำพฤติกรรมการบ่นได้เก่งขึ้นเองเป็นเงาตามตัว

แต่เนื่องจากการพูดเฉย ๆ กับการบ่นนั้นมีพฤติกรรมเหมือนกัน คนบางคนมักจะไม่รู้ว่าการพูดของตนเข้าข่ายประเภทการบ่นหรือไม่ ดังนั้นนักวิเคราะห์วิจารณ์การพูดจึงได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เพื่อเป็นเกณฑ์ให้บุคคลนั้นได้ทำการประเมินการพูดของตนเอาเองว่าจะเป็นการพูดหรือการบ่นกันแน่ ข้อเสนอแนะมีดังนี้

            1. ให้พิจารณาว่าการพูดนั้นเป็นการสนทนาหรือเล่าเรื่องหรือเปล่า  ถ้าไม่ใช่ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นการบ่น 

2. ให้พิจารณาลักษณะของการพูดนั้นเป็นการเริ่มพูดในเชิงตำหนิเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไม่มีการเตรียมการพูดมาก่อนหรือไม่ หรือ พอเห็นหน้าบุคคล สิ่งของ  หรือสถานการณ์ที่หงุดหงิดใจ ก็จะพูดออกมาเลย โดยไม่สนใจว่ามีคนฟังหรือไม่ ส่วนใหญ่คนบ่นนั้นพอเห็นสิ่งที่ต้องบ่นก็เริ่มต้นบ่นได้ทันที คนที่ชอบบ่นก็จะสามารถพูดได้เรื่อย ๆ โดยไม่สนใจคนฟังอยู่แล้ว

            3. ให้พิจารณาว่าเรื่องที่พูดนั้นยืดเยื้อใช้เวลานานเนื่องจากพูดกับไปกลับมา ซ้ำไปซ้ำมา และมักจะนำเอาเรื่องอื่น ๆ ในอคีตเข้ามาโยง ปะปนกันไปเพื่อให้พูดได้เรื่อย ๆ หรือไม่ การนำเอาเรื่องหลาย ๆ เรื่องมาพูดต่อกันจนทำให้กลายเป็นคนละเรื่องเดียวเช่นนี้เรียกว่าเป็นการบ่น

4. ให้พิจารณาว่าเรื่องที่พูดนั้น เราเคยพูดมาแล้วกื่ครั้ง กี่หน ในหนึ่งสัปดาห์ การบ่น คือ การพูดว่าอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะสังเกตได้ว่า มักจะเริ่ม ด้วยประโยคว่า "นี่ฉันบอกกี่ครั้งกื่หนแล้ว...."          

5. ให้พิจารณาว่าเป็นลักษณะของคำพูดที่พร่ำพรรณาถึงความน้อยอกน้อยใจ ต่อว่าต่อขานโดยที่ไม่ต้องการคำตอบโต้หรือไม่ เพราะการบ่นนั้น ในบางครั้งผู้บ่นเพียงการพูดเพื่อที่จะระบายความในใจเท่านั้น

6. ให้พิจารณาว่าในขณะที่กำลังพูดอยู่นั้นเป็นการพูดแบบพาล ๆ หาเรื่องหรือไม่ ในบางครั้งคนบ่นมักจะไม่สนใจว่าคนที่ปรากฏตัวอยู่ในขณะนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่บ่นอยู่หรือไม่ พอเหลือบเห็นคนฟังก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาเลยพาลหาเรื่องบ่นเรื่องของคนนั้นต่อได้อีก ทำเอาคนที่อยู่ฟังบ่นโดนหางเลขไปด้วย ซื่งพููดเป็นคำหยาบเล็ก ๆ ได้ว่า "ซวยไป"

7. ให้พิจารณาท่าทีหรืออากัปกิริยาของผู้ฟังว่ามีอาการกระสับกระส่าย หน้านิ่วคิ้วขมวด หรือแสดงอาการเบื่อหน่ายหรือไม่ เพราะไม่มีใครชอบนั่งให้คนอื่นมาบ่นว่าอยู่ได้ และเมื่อทนไม่ไหวก็มักจะลุกหนีไปเสียดื้อ ๆ

 

อย่างไรก็ตาม   แม้ว่าการบ่นจะเป็นสิ่งที่คนที่อยู่รอบข้างหรือผู้ที่ถูกบ่นไม่ชอบ  แต่สำหรับคนที่ทำพฤติกรรมการบ่นแล้ว จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้เขาอย่างยิ่ง ซ้ำยังมีประโยชน์ต่อชีวิตในเชิงจิตวิทยาอีกด้วย เช่น

1. การบ่นเป็นการแสดงถึงการมีวัยวุฒิของผู้บ่น  ว่าอยู่ในขั้นแก่พอสมควรแล้วหรือยัง เพราะมักจะมีคำกล่าวว่า คนแก่ขี้บ่น ซึ่งก็เป็นการดีที่จะทำให้ผู้บ่นได้หันกลับมาพิจารณาว่าขณะนี้เราเริ่มมีอายุแล้วเป็นการเตือนให้ยอมรับสภาพทางร่างกาย

2. การบ่นเป็นการป้องกันตนเองทางจิตได้ เพราะแสดงว่าเราไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่   เพราะเราสามารถรู้ความผิดพลาด ความไม่ดีของคนอื่น  ๆ แล้วนำมาบอกเล่าให้เขาฟัง ทั้งยังเป็นการออกตัวว่า "ฉันเตือนคุณแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้นอย่ามาโทษฉันนะ"

3. การบ่นเป็นการบริหารสมองให้ได้คิดตลอดเวลา ทำให้สมองไม่ฝ่อป้องกันการเป็นอัลไซเมอร์ เพราะต้องพยายามเฟ้นเรื่องและหาทางให้เรื่องที่บ่นนั้นทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์รำคาญให้ได้ด้วยวิธีการที่สุดแท้แต่จะคิดสรรหามาในขณะที่บ่น    

4. การบ่นเป็นการบริหารกล้ามเนื้อของใบหน้า เพราะจะมีการขยับเขยื้อนตลอดเวลาของการบ่น น่าจะทำการวิจัยว่าคนที่บ่นเก่งนั้นจะมีใบหน้าที่เต่งตึงดูอ่อนกว่าวัยหรือไม่ เพราะจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงผิวพรรณไปได้อีกทางหนึ่งด้วย    

5. การบ่นเป็นการผ่อนคลายความเครียด เพราะได้ระบายออกมาเสียบ้าง  ตามหลักจิตวิทยาแล้วการได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจเสียบ้างก็จะทำให้จิตใจสบายขึ้น   

6. การบ่นเป็นการใช้เสียง ดังนั้นจึงอาจจะใช้แก้เหงาได้ เพราะมีเสียงรบกวน ตลอดเวลาที่อยู่คนเดียว

7. การบ่นอาจนำมาใช้ไล่คนให้หนีหายไปได้  ดังนั้นเวลาที่ไม่ต้องการให้ใครมารุมล้อมหรืออยู่เกะกะขวางหูขวางตาก็ให้บ่นไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวคนก็หายไปหมดเองและในที่สุดก็จะเหลือเรานั่งบ่นยู่คนเดียวสมใจนึกบางลำพูของเราไป

8. การบ่นเป็นการสร้างสรรค์จินตนาการ  เพราะมีการวาดภาพ คาดเดาเหตุการณ์ วิจารณ์ เรื่องราวต่าง  ๆ ให้คนฟังบ่นมองเห็นภาพ ซึ่งในบางครั้งก็มีความเว่อจนเกินกว่าที่คนฟังบ่นจะรับได้ ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติพิเศษของคนชอบบ่น

 

แม้ว่าการบ่นจะมีข้อดีดังที่กล่าวมาแล้วแต่ผู้บ่นก็มักจะไม่ยอมรับพฤติกรรมการพูดของตนว่า เป็นคนขี้บ่นและก็มักจะเถียงคอเป็นเอ็นว่า" ฉันไม่ได้บ่น" สาเหตุที่ผู้พูดจะปฏิเสธว่าการพูดของเขาไม่ใช่การบ่น  และมักจะไม่พอใจที่จะได้รับคำชมว่า

"บ่นเก่งก็เพราะการบ่นเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบ  จึงไม่มีใครต้องการที่จะมีความเก่งกาจในด้านการบ่นหรือรู้สึกปลาบปลื้ม ถ้าใครได้รับคำชมว่า  "บ่นเก่ง" ในทางตรงกันข้ามกลับจะรู้สึกโกรธและพร้อมที่จะโต้เถียงอย่างสุดฤทธิ์ รับรองได้ว่าจะไม่มีใครไม่ยอมรับคำชมนั้น ๆ  เด็ดขาด จึงเห็นได้ว่า การบ่นนี้เป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในใจของคนชอบบ่นอย่างยิ่ง เพราะว่า "อยากบ่น" แต่ไม่อยากให้คนอื่นมาว่า "ขี้บ่น" จึงน่าจะเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมนี้เสียใหม่ให้มีความหมายในเชิงบวกสักนิดจะได้ยอมรับกันได้   ใครมีความคิดสร้างสรรค์ขอให้ช่วยคิดกันคำขึ้นมาแทนที่ คำว่า “บ่น” หน่อยเถอะ  นึกว่าเอาบุญ  ช่วยคนขี้บ่นให้มีความสุขในการบ่นอย่างแท้จริงในการบ่นเสียที เพราะคนส่วนใหญ่ที่ขี้บ่นนั้น ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก คนกันเองที่เราเคารพรักและมีพระคุณต่อเราทั้งนั้น

 

© Copyright 2006. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com