ให้ทุกวันเป็นวันสุขสันต์ของครอบครัว
สถาบันครอบครัว
เป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นสถาบันที่สร้างสังคม
สร้างประเทศชาติ
และสร้างโลก สมาชิกของสถาบันครอบครัวที่ชัดเจน คือ
คนที่ทำหน้าที่เป็น
พ่อ แม่ และ ลูก
สิ่งที่กำลังเป็นที่วิตกกังวลของในปัจจุบันนี้ก็ คือ
เราไม่รู้ว่ารูปแบบของครอบครัวในอุดมคติเป็นอย่างไรโดยเฉพาะในยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเช่นนี้
นักวิชาการในหลายสาขา
ต่างก็ตระหนักถึงวิกฤติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับสถาบันครอบครัวอยู่ในปัจจุบันนี้
จึงมีผู้รู้ในสาขาวิทยาการต่าง ๆ ทั้งนักจิตวิทยา นักสังคมวิทยา นักพูด
นักวิเคราะห์
และอีกหลาย ๆ
นักต่างก็ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวออกมาวิเคราะห์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้
ความจริงแล้ว
วิถีทางในการดำเนินชีวิตของแต่ละครอบครัวย่อมมีความแตกต่างกัน
จะเอาแนวคิดทฤษฎีใดมาใช้อย่างตายตัวเป็นสูตรสำเร็จก็คงจะยาก
แต่ความหมายของคำว่า
ครอบครัวที่ดีที่ทุกคนต้องการแล้ว คงไม่ต่างกัน นั่นก็คือ
ครอบครัวที่สมาชิกทุกคนมีความสุข
การค้นหาและหลักการเชิงปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขในครอบครัว
จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
และหลักการที่จะขอนำเสนอในที่นี้ ก็คือ หลักการ "การให้"
โดยจะขอเน้นว่าในนัยของการให้นั้นต้องเป็นการให้ที่แต่ละคนในครอบครัวต่างให้ซึ่งกันและกัน
และได้ให้ในสิ่งที่ผู้รับอีกฝ่ายหนึ่งต้องการเท่านั้นเป็นสำคัญ
เมื่อมีการให้ในรูปแบบเช่นนี้จนครบวงจรภายในสมาชิกครอบครัว
การให้ก็จะมีความหมายสำหรับผู้รับ เมื่อผู้รับมีความสุข
ผู้ให้ก็มีความสุขเพราะไม่เสียแรงที่ได้ให้
เกิดเป็นความพอใจและเป็นสุขสำหรับทุก ๆ
คน
ในที่สุดความต้องการก็จะมาบรรจบกันที่จุดๆ หนึ่ง ที่จะเป็นจุดของความพอดี
หรือจุดสมดุลซึ่งเป็นจุดที่ทุกคน
ต่างได้รับสิ่งที่ตัวต้องการอย่างพอเหมาะและลงตัวพอดี เหมือนตัวจิ๊กซอ (Jigsaw)
ที่ต่อเป็นภาพที่แล้วเสร็จสมบูรณ์มีความงดงามของครอบครัวนั้น ๆ
ผลดีของการให้ในสิ่งที่ผู้รับปรารถนา
ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีได้
เพราะการที่จะรู้ว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร แค่ไหน ก็ต้องสนใจกัน เข้าใจกัน
และยอมรับซึ่งกันและกัน พอสมควรในระดับหนึ่ง และสำหรับผู้รับ
การที่เราได้รับสิ่งที่ต้องการด้วยความรักความเข้าใจ มันน่าชื่นใจยิ่งนัก
ปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างยึดความต้องการของตนไว้เป็นศูนย์กลาง
คอยรอที่จะตักตวง
ความต้องการของตนจากคนอื่น พอไม่ได้ หรือได้ไม่พอ
ก็เริ่มเกิดเรื่อง
แล้วต่างก็กล่าวโทษกันไป โยนความผิดกันมา
มีการทะเลาะกันเป็นลูกโซ่
จนน่ารำคาญโดยไม่พยายามแก้ปัญหาด้วย "การให้"
ในที่สุดเมื่อถึงขั้นแตกหัก
ก็มักจะมีการนำเอาทฤษฎีหย่าร้างมาใช้เป็นวิธีแก้ปัญหา
เพราะมันดูง่ายดี
โดยไม่คำนึงว่าผลลัพธ์ที่ตามมาใหญ่หลวงนัก
พ่อแม่ยังมักนำเสนอข้อดีของการหย่าร้างที่ทำให้ดูดีขึ้นมาเป็นข้ออ้าง
ที่จริงแล้วทุกคนต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่าเมื่อครอบครัวล่มสลาย
ลูกขาดที่พึ่ง
กลายเป็นเด็กเหงาเศร้าซึม
บางรายกลายเป็นปัญหาของสังคมสารพัดประเภทเดือดร้อนกันไปทั้งสังคมและประเทศชาติ
การที่จะมาบอกให้ลูกทำใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากน่าดู
พ่อแม่ถ้าได้ใช้เวลาสักนิดคิดถึงความรักที่เคยมีให้แก่กัน
มองให้เห็นความดีของกันและกันก็คงจะทำให้คู่สามีภรรยาเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดขึ้นมาได้บ้าง
เคยแนะนำให้คนงานก่อสร้างคู่หนึ่งลองปฏิบัติด้วยการให้ลองแอบตื่นมากลางดึกแล้วมองภรรยาที่ด่าเก่งที่กำลังหลับอย่างสงบนิ่งว่ารู้สึกอย่างไรถ้าเราไม่มีเธอคนนี้
และให้มองดูลูกที่นอนอยู่ข้าง ๆ ส่วนภรรยาก็ให้ทำเช่นกัน
เพื่อเป็นการสำรวจใจตนเองจะได้คิดต่อได้ว่า ถ้าเรายังต้องการอยู่ด้วยกัน
เราควรจะให้อะไรแก่กันเพื่อให้เกิดความสุขร่วมกันได้
ก่อนจะทะเลาะหรือพูดไม่ดีต่อกันให้หยุดคิดถึงภาพที่เราสำรวจใจของเราเสียก่อนทุกครั้ง
อย่างไรก็ตามอยากจะฝากถึงคนที่เป็นลูก
โดยเฉพาะเยาวชนว่า
ลูกก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ที่ทำให้ครอบครัวสมบูรณ์
ลูกก็มีหน้าที่ในการที่จะรักษาความสมบูรณ์นี้ไว้
ด้วยการเป็นผู้ให้เช่นเดียวกัน
อย่าเป็นแต่เพียงผู้รับเท่านั้น ต้องรู้กาลเทศะและความเหมาะสมด้วย ลูก ๆ
หลายคนร้องขอเวลาจากพ่อแม่ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพ่อแม่นั้นทำงานเพื่อครอบครัว
ไม่ว่าจะเพื่อเงินทองหรือชื่อเสียง
ก็ต้องถามว่าพ่อแม่ทำงานเหนื่อยสุดท้ายแล้วใครคือผู้รับประโยชน์
ถ้ามัวต้องประคองลูกที่ไม่รู้จักให้ในสิ่งที่ตนควรให้ความไม่ลงตัวก็จะเกิดขึ้น
ครั้งหนึ่งเมื่อถึงชั่วโมงสอนปรากฏว่านักเรียนไม่ยอมเข้าห้องเรียนเพราะยังต้มไข่วิชาลูกเสือเนตรนารีไม่เสร็จ
พอไปตามก็พบว่าลูกศิษย์ทุกคนวุ่นวายกับการพัดถ่านไฟเตาก้อนหินเพื่อให้ไข่สุกและต่างร้องขอเวลากันเซ็งแซ่
มือก็พัดไฟปากร้องสาธยายเหตุผลสารพัดสรุปว่าถ้าไข่ไม่สุกมีหวังตกวิชานี้แน่
ขอให้เห็นใจ ดังนั้นเมื่อนักเรียนทำกิจกรรมต้มไข่เสร็จ ก็เลยได้ทีสอนว่า
สิ่งที่ลูกศิษย์ทำกับครูสักครู่นี้เหมือนกับพ่อแม่ที่ทำกับลูกที่ต้องการเวลาแต่พ่อแม่ก็ไม่มีให้และยังให้ไม่ได้เพราะยังมีงานที่ยังคั่งค้างอยู่ทำไม่เสร็จเหมือนกับที่ไข่ยังต้มไม่สุก
ดังนั้นลูกๆ
เคยคิดบ้างไหมว่าที่พ่อแม่ไม่มีเวลาหรือยังไม่มีเวลาเพราะมีสิ่งสำคัญที่ต้องทำเหมือนที่นักเรียนต้องทำเมื่อสักครู่ก่อนหน้านี้
ถ้าคิดได้เช่นนี้ลูก ๆ
ก็ต้องมาช่วยกันพิจารณาว่าเราจะช่วยเป็นผู้ให้ในส่วนของเราได้อย่างไร
ครอบครัวจึงจะสมบูรณ์ สมดุล และมีความสุขดีอยากจะฝากถามทุกคนในครอบครัวว่า
วันนี้เราให้อะไรที่เป็นความต้องการและเป็นความสุขแก่คนในครอบครัวของเราแล้วหรือยัง
ถ้ายังก็ให้ทำเสียเดี๋ยวนี้ อย่ารีรออยู่เลยเดี๋ยวจะสายเกินไป
ขอให้ทุกคนโชคดี
และมีความสุข |