ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







บทที่ 3
การประกอบอาชีพและการเลือกอาชีพ

อาชีพและการประกอบอาขีพ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทุกคน อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องดิ้นรนต่อสู่เพื่อให้ตนเองอยู่รอด การแสวงหางานทำเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และครอบครัวจึงเป็นหนทางของความอยู่รอดได้ การประกอบอาชีพ หมายถึง การทำงานของมนุษย์เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดรายได้ และเกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เพื่อนำไปใช้จ่ายสำหรับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในยามที่ยังอยู่ในวัยเด็กที่ยังไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพ พ่อแม่จะทำหน้าที่ผู้จัดหาให้แก่ บุตรหลานและบุคคลในครอบครัว

 

ความจำเป็นของการประกอบอาชีพ

การประกอบอาชีพในปัจจุบันแตกต่างไปจากอดีต เนื่องจากมีปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ซับซ้อนมากขึ้น การผลิตของใช้เองในครัวเรือนแทบจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ทุกอย่างจำเป็นต้องใช้เงินซื้อหา ความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคข่าวสารและการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง การศึกษาและการนำความรู้มาใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพมีความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีให้แก่ตนเอง ครอบครัวและสังคม ทำให้สามารถอยู่ในสังคมได้ดี การประกอบอาขีพจึงมีความสำคัญและเป็นความจำเป็น ดังนี้

1.  การประกอบอาชีพเป็นไปเพื่อตนเอง เป็นการประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินหรือรายได้มาจับจ่ายใช้สอยสำหรับการดำเนินชีวิตและตอบสนองความต้องการของตนเอง ทั้งยังเป็นการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจรวมทั้งสถานภาพทางสังคม

2. การประกอบอาชีพเป็นไปเพื่อครอบครัว บุคคลย่อมมีสถานภาพเป็นสมาชิกของครอบครัว ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ซึ่งมีภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูให้การอบรมสั่งสอนลูกและให้ความรักและวัตถุสิ่งของและสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแก่ลูก ให้การศึกษาเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต ลูกมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตนป็นลูกที่ดี ศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา ประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมทั้งให้การอุปการะดูแลพ่อแม่ในวัยชราให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี

3. การประกอบอาชึพเป็นไปเพื่อสังคมและประเทศชาติ บุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเป็นพลเมืองของประเทศชาติ การประกอบอาชีพที่สุจริต มีอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี และมีโอกาสก้าวหน้าในงานอาชีพ มีการสร้างงานสร้างอาชีพ มีเงินหมุนเวียนภายในสังคมหรือชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ทำให้สังคมมีความเข้มแข็งมีเศรษฐกิจที่ดี นำพาให้ประเทศชาติเขริญรุ่งเรืองไปด้วย ในทางกลับกัน ถ้าประชาชนในชาติไม่มีงานทำหรือไม่มีการประกอบอาชีพที่ดี ก็จะทำให้ประเทศชาติยากจน เพราะรัฐก็จะไม่ได้ภาษีจากประชาชน การพัฒนาประเทศก็จะหยุดชะงัก ส่งผลให้ระดับความเป็นอยู่ของประชาชนด้อยคุณภาพไปด้วย

 

งานและกลุ่มอาชีพ

งานอาชีพเกิดจากความจำเป็นที่จะต้องมีให้ทุกคนมีส่วนช่วยเหลือกันในการทำงาน เนื่องจากบุคคลหนึ่งไม่สามารถจะผลิตสิ่งของต่าง ๆ  มาตอบสนองความต้องการของตนเองได้ทั้งหมดจึงเกิดเป็นงานและทักษะการทำงานขึ้น  การจัดแบ่งงานกันทำก่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะอย่างและเกิดเป็นกลุ่มอาชีพขึ้น ในทางธุรกิจถือได้ว่า อาชีพหนึ่งคือธุรกิจในรูปแบบหนึ่ง  เช่น  อาชีพพนักงาน อาชีพช่าง ไม้  อาชีพเลขานุการ  อาชีพวิศวกร ค้าขาย  อาชีพก่อสร้าง อาชีพแพทย์  อาชีพเกษตรกร เป็นต้น  ธุรกิจหนึ่งอาจจำเป็นต้องมีอาชีพอื่น ๆ เข้ามาร่วมมือกัน เช่น อาชีพก่อสร้าง ต้องใช้บุคคลอาชีพบัญชี อาชีพวิศวกร อาชีพพนักงานจัดการทั่วไป เป็นต้น การแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ  ทำให้เกิดงานหรืออาชีพที่ต้องทำแตกต่างกันไปด้วย สาเหตุทำให้ต้องมีการแบ่งงานและอาชีพเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เนื่องจากบุคคลมีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน ความรู้และประสบการณ์ทำให้เกิดทักษะและความชำนาญในเนื้องานในระดับที่ต่างกัน นอกจากนี้  งานที่ต้องทำก็มีหน้าที่แตกต่างกัน  นอกจากนี้การแบ่งงานยังสามารถตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกันและทำให้บุคคลได้ทำงานในสิ่งที่ตนถนัด

 

ลักษณะของงานอาชีพ

 งานทั่วไปที่นิยมทำเป็นอาชีพมีลักษณะของงานตามที่พื้นฐานการงานอาชีพกำหนดไว้ให้ดังนี้

1. งานเกษตรกรรม    เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ งานที่เกี่ยวข้องคือ การปลูกพืชสวน พืชไร่  การปศุสัตว์ และการประมง ประเทศไทยมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม และมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นเหมาะสมต่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และการทำประมง เป็นงานอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

2.  งานธุรกิจ   เป็นงานที่เกี่ยวกับธุรกิจและการค้า พณิชยกรรม ธุรกิจการเงิน การธนาคาร  การทำบัญชี  การจัดการธุรกิจ  การเก็บเอกสาร  การติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศและอื่น ๆ

3.  งานอุตสาหกรรม    เป็นงานที่เกี่ยวกับความการผลิตสินค้า ด้วยงานทางด้านการช่างและเครื่องจักรกลโรงงาน เครื่องมือเครื่องจักรอุตสาหกรรม พนักงานจะได้รับค่าจ้าง เป็นค่าแรงงานที่เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถและประสบการณ์แต่ต้องไม่น้อยกว่าขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้

4.  งานคหกรรม   เป็นงานที่เกี่ยวกับ เช่น การจัดการบ้านเรือน  การตกแต่งสถานที่ การประกอบอาหาร  การเย็บปักถักร้อย การตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ถ้างานนั้นมีรายได้ก็ถือว่าเป็นงานอาชีพได้

5.  งานศิลปกรรม   เป็นงานอาชีพที่เกี่ยวกับงานช่างฝีมือที่มีความสุนทรีย์ของละเอียดอ่อน  ความคิดสร้างสรรค์ทั้งด้านศิลปกรรม และการประยุกต์  การตกแต่ง  การออกแบบในด้านงานหัตถกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เป็นต้น  โดยให้ผลผลิตสามารถไปประกอบอาชีพ  

 

ประเภทของอาชีพ           

            ในปัจจุบันอาชีพมีความหลากหลาย  มีให้เลือกมากมายทั้งที่เป็นอาชีพใหม่และอาชีพเก่า ที่อยู่ในอาชีพการผลิตสินค้า การค้าและการบริการ การรวมกลุ่มของอาชีพเกิดจากแนวความคิด ที่พิจารณาจากหลายมุมมอง เช่น จากตัวสินค้า จากการแลกเปลี่ยน จากลักษณะของงานที่ทำ เป็นต้น แต่การแบ่งประเภทของอาชีพโดยทั่วไปที่นิยม (Krusuree, 2008) ได้แก่

            1. อาชีพรับราชการ คือ พนักงานที่ได้รับการจ้างงานจากรัฐบาล เรียกขื่อว่า ข้าราชการในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นพนักงานของรัฐ   มีหน้าที่ในการให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ ตามตำแหน่งและหน้าที่ที่งานในกระทรวงนั้นรับผิดชอบ เช่น กระทรวงมหาดไทย จะมีงานปกครองที่มีปลัดอำเภอ นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่ให้การดูแลเอาใจใส่ประชาชนการรับเรื่องร้องเรียน   พร้อมทั้งให้บริการในด้านต่าง ๆ เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน การจดทะเบียนสมรส เป็นต้น อาชีพตำรวจมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ    ทหารมีหน้าที่รักษาดินแดน ป้องกันการรุกรานจากศัตรูของประเทศ  เป็นต้น การทำงานของข้าราชการมีระยะเวลาของการทำงานจนถึงอายุ 60 ปี เรียกว่า ปลดเกษียณ มีวันทำการที่แน่นอน รายได้หรือค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นเงินเดือนประจำ

2.  อาชีพลูกจ้าง   ลูกจ้างหรือพนักงานเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการ  แต่เป็นลูกจ้างหรือพนักงานขององค์การธุรกิจหรือหน่วยงานต่าง ๆ โดยปฏิบัติงานตามคำสั่งหรือตามที่ได้มอบหมาย  ค่าตอบแทนที่ได้รับคือ เงินเดือน หรือรายได้ประจำวัน เป็นชิ้นงาน การประกอบอาชีพลูกจ้างเป็นที่นิยมของคนไทย 

3.  อาชีพส่วนตัว   การประกอบอาชีพส่วนตัวหรืออาชีพอิสระ  หมายถึง  การประกอบอาชีพที่มีการลงทุนด้วยตนเอง หรือร่วมกับบุคคลอื่น ลักษณะการทำงานมีความเป็นอิสระ เป็นนายจ้างตนเอง แต่การจะเป็นนายตนเองนั้นต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น จะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเทกำลัง กำลังกาย มานะและอดทนในการทำงาน การประกอบอาชีพส่วนตัว หรืออาชีพอิสระตามความหมายของผู้ประกอบการแบบวิสาหกิจ  (Enterprises) ลักษณะของการประกอบการในอาชีพ ดังนี้

     3.1  อาชีพการสร้างผลผลิต  (Production Procrssing Sector)   เป็นอาชีพที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดผลผลิตสำหรับจำหน่ายให้แก่ ผู้บริโภค อาชีพการสร้างผลผลิตแบ่งได้เป็นธุรกิจ 2 ประเภท คือ

3.1.1  ธุรกิจการเกษตร  (Agricultural Processing) เรียกผู้ประกอบอาชีพว่า เกษตรกร ผลผลิตที่ได้เป็นผลผลิตขั้นพื้นฐานจะถูกนำไปขายในลักษณะที่เป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าต่อไป เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่เหมาะสมในการทำการเกษตร ดังนั้นอาชีพเพราะปลูกจึงเป็นอาชีพหลักกระจายอยู่ทั่วไปในเขตชนบท กิจกรรมการประกอบอาชีพธุรกิจการเกษตร ได้แก่

การเพาะปลูก  ได้แก่  การทำนา การทำไร่ การทำสวนผัก การทำสวนผลไม้  การ

ทำสวนกล้วยไม้ ทำสวนปาล์ม และ ทำสวนยางพารา เป็นต้น
                        การเลี้ยงสัตว์  ได้แก่ การเลี้ยงหมู วัว ไก่ เป็ด กบ นกกระทา แกะ แพะ และ นกกระจอกเทศ  เป็นต้น

การประมง  ได้แก่ 1)  การเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำเค็มและน้ำ

จืด ปลาที่เลี้ยงในกระชัง เช่น ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลาช่อน  ปลากะพง  กุ้ง หอย  2) การจับสัตว์น้ำในทะเล แม่น้ำ และลำคลอง ซึ่งมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่แล้ว เป็นต้น

3.1.2  ธุรกิจอุตสาหกรรม  (Industrial Business)   เป็นอาชีพที่นำผลผลิตทาง การเกษตรมาผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปให้เป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด   การประกอบอาชีพธุรกิจอุตสาหกรรมมีหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบอุตสาหกรรมโรงงานที่ต้องจ้างแรงงาน หรือรูแปบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน

    3.2  อาชีพการค้า  (Trading Sector)   เป็นอาชีพที่ผู้ประกอบการทำหน้าที่นำสินค้าหรือซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแล้วนำไปจำหน่ายขายต่อ มีลักษณะของการซื้อและการขายสินค้าโดยมีรายได้เป็นกำไรจากการขายสินค้าเหล่านั้น อาชีพการค้าแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ

3.2.1  ธุรกิจค้าส่ง  (Wholesale Business)   เป็นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตจำนวนมากมาขายต่อให้กับผู้ค้าปลีกที่มีร้านค้า อาจมีการตั้งเป็นศูนย์รับสั่งสินค้าให้ เช่น ห้างแม็คโคร ตลาดสำเพ็ง ตลาดไท  ตลาดสี่มุมเมือง ห้างร้านขายส่งบนตึกใบหยก gxHo9ho

3.2.2  ธุรกิจค้าปลีก  (Retail Business)   คือ ผู้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้ค้าส่ง แล้วนำไปขายต่อให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย  เช่น  ร้านขายของชำใกล้บ้าน ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ร้านขายยา  ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น หรืออาจเป็นการค้าปลีกที่ให้บริการถึงบ้าน  

    3.3  อาชีพการให้บริการ  (Service Sector)   เป็นอาชีพที่ผู้ประกอบการมีสินค้าเป็นการบริการ  เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อบริการหรือลูกค้า คุณภาพของสินค้าบริการ คือความพึงพอใจจากการใช้บริการนั้น ๆ  รายได้ คือ ค่าตอบแทนที่ได้จากการบริการ การประกอบอาชีพประเภทนี้ต้องการเงินลงทุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านการผลิตสินค้า กระบวนการไม่ซับซ้อน เพียงแต่ผู้ให้บริการต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ ฟรือเชี่ยวชาญในอาชีพ  เช่น  บริการส่งของ บริการตัดผม  ซ่อมรถยนต์  ซักรีด สปา และนวดแผนไทย เป็นต้น ในปัจจุบันมีการบริการจัดสินค้าเพื่อให้ผู้ค้าปลีกนำไปขายได้ทันที เช่น จัดหาสินค้าหลาย ๆ ประเภทมาจัดใส่รถยนต์ รถเข็น  ผู้ค้าปลีกเพียงแต่มารับไปขายได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปหาสินค้าเอง ฯลฯ นอกจากนี้งานบริการอาจมาพร้อมกับสินค้า เช่น ซื้อเครื่องปรับอากาศ ก็จะได้บริการซ่อมแซมดูแลหรือประกันความเสื่อม เป็นต้น  

 

การเลือกอาชีพ

การเลือกอาชีพ (Choosing a carreer)  การตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับทุกคน บุคคลอาจเลือกอาชีพจากอาชีพที่มีอยู่เดิม หรือสร้างงานขึ้นมาใหม่ในกลุ่มอาชีพ ข้อแนะนำในการเลือกอาชีพและการสร้างงานเพื่อการประกอบอาชีพ ได้แก่
            1..วิเคราะห์ตนเอง    การวิเคราะห์ตนเองต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อรู้จักตนเองทั้งในด้านบวกและในด้านลบ ซึ่งเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง ในด้านวติปัญญา ความถนัด  ความสนใจ  ความสามารถในการทำงาน ความกระตือรือร้น อุปนิสัย อารมณ์ บุคลิกภาพและสุขภาพอนามัย เป็นต้น

การวิเคราะห์ตนเองตามแนวคิดแบบนิโอฮิวแมนนิสท์ (Neo Humanist) ซึ่งกล่าวว่า ผู้ที่มีความสามารถในการศึกษาตนเองเพื่อให้รู้จักตนเอง และสามารถนำ จิตสำนึก จิตใต้สำนึก และจิตเหนือสำนึกที่มีพลังมาสร้างความสำเร็จและความสุขให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้ใน 3 ด้าน คือ ด้านส่วนตัว  เช่น สามารถสร้างบุคลิกภาพและความเชื่อมั่นในตนเอง เอาชนะความกลัว ความวิตกกังวล ทำให้ผ่อนคลาย พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความจำและสมาธิ เป็นต้น ด้านครอบครัว เช่น ทำให้ครอบครัวมีความสุขราบรื่นสร้างเสน่ห์ดึงดูดจิตใจซึ่งกันและกัน และด้านการงาน เช่น มีศิลปะของการเป็นเจ้านายและลูกน้องที่ดี มนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน สามารถปรับพฤติกรรมให้เข้ากับบุคคลอื่น ๆ ในหน่วยงาน เป็นต้น

ในการวิเคราะห์ตนเองโดยศึกษาจากคลื่นสมองของมนุษย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกว่ามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานบริการ พบว่า คลื่นสมองที่ดีที่สุดสำหรับการกิจกรรมการงาน คือ  คลื่นสมองอัลฟา ซึ่งเรียกว่าเป็น คลื่นความสุข เป็นคลื่นสมองที่มีความถี่ 8 12 รอบหรือไซเคิล / นาที เป็นคลื่นของสมาธิ มีความเยือกเย็น คิดบวก มีสติและความจำดี มีความคิดสร้างสรรค์สูง มีอารมณ์ ดีร่าเริงเบิกบาน เป็นคลื่นที่เหมาะสำหรับกิจกรรมในทุก ๆ ด้าน ทำให้เกิดประสิทธิภาพของกิจกรรมสูง ส่วนคลื่นสมองที่มีความถี่ของรอบต่อนาทีที่สูงที่สุด คือ คลื่นแกมม่า เรียกว่า คลื่นประจัญบาน เป็นคลื่นของความกลัว ความเกลียดชัง พร้อมที่จะทำร้ายตัวเองและผู้อื่น มึความถี่ของคลื่นมากกว่า 40 รอบ / วินาที คลื่นเบต้า เรียกว่าคลื่นสับสนวุ่นวาย เป็นคลื่นที่มีความถี่ 13-40 รอบ / วินาที เป็นคลื่นของความสับสน ความเครียดสูง เป็นเหตุให้เกิดความคิดในทางลบ เช่น อิจฉาริษยา โลภ รู้สึกด้อย คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น คลื่นสมองทั้ง 2 คลื่นนี้มักจะทำร้ายตนเองและผู้อื่น ส่วนคลื่นคอสมิค เรียกว่าคลื่นจักรวาล เป็นคลื่นที่มีความถี่เป็น 0 เป็นคลื่นเดียวกันกับธรรมชาติ ทำให้เกิดความปิติสุข มีความรักความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ให้กับทุกสรรพสิ่ง ไม่ยึดติดกับสังขาร เป็นคลื่นสมองที่ดีที่สุดของชีวิต

การวิเคราะห์บุคลิกภาพพื้นฐานของบุคคลด้วยแบบทดสอบก็เป็นวิธีการหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะแนวอาชีพนำมาให้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้บุคคลเข้าใจตนเองเพื่อเลือกงานอาชีพที่ตรงกับบุคลิกภาพของตน เช่น แบบทดสอบบุคลิกภาพกับงาน (Vocational Preference Inventory = VPI) เป็นต้น เช่น ถ้ามีบุคลิกภาพขี้อาย ไม่ชอบทำกิจกรรมกับคนหมู่มากก็คงต้องเลือกอาชีพที่มีลักษณะของงานเช่นนั้น  นอกจากนี้งานแต่ละงานจะมีลักษณะของงานและภาระงานที่ต้องการสมรรถนะประจำตำแหน่ง สมรรถนะมาจากความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน      

2.  วิเคราะห์อาชีพ   วิเคราะห์อาชีพทำให้รู้ว่า ตนเองมีความสามารถที่จะเข้าสู่งานในอาชีพนั้นได้หรือไม่ การศึกษาเกี่ยวกับงานอาชีพเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของอาชีพ คุณลักษณะของงานอาชีพ และบริบทของงานในอาชีพ การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่อาชีพ   ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษามักจะทดสอบความพร้อมในการประกอบอาชีพด้วยการให้เข้าไปสัมผัสกับอาชีพนั้น ๆ ก่อนการเข้าศึกษาเล่าเรียน เช่น นักวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานกับเครื่องมือ เครื่องจักรสารเคมี ส่วนแพทย์ พยาบาล ต้องอยู่กับผู้ป่วยที่เป็นโรคต่าง ๆ ในสภาพของโรงพยาบาลและภาระงานประจำซึ่งมีสภาพการทำงานที่แตกต่างไปจาก ครู อาจารย์ นักข่าว เป็นต้น ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวก่อนประกอบอาชีพก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

3. วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม ปัจจัยแวดล้อมอาจเป็นปัจจัยที่มองไม่เห็น ซึ่งในบางครั้งมักจะถูกมองว่าเป็นการเลือกงานตามกระแสความนิยมและค่านิยมของครอบครัวและสังคมในยุคนั้น ๆ  วัฒนธรรมของสังคมส่งผลให้เกิดธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติในการคัดเลือกแรงงานและการจ้างแรงงาน ส่วนค่านิยมของสังคมต่ออาชีพและงานในอาชีพ ทำให้มองเห็นโอกาสการได้งานอาชีพ  ความก้าวหน้า  และความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น จากการสำรวจความนิยมในการเลือกคณะวิชาในมหาวิทยาลัยของผู้เรียน พบว่า คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่ได้รับความนิยมสูงมากกว่าเดิม ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับความนิยมน้อยลง      
 

การตัดสินใจเลือกอาชีพจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลต้องเตรียมตัวในอาชีพ โดยการทำการศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะประกอบอาชีพนั้นในฐานะมืออาชีพได้ เช่น ผู้ที่ตัดสินใจเลือกอาชีพทนายความก็ต้องศึกษาตัวบทกฎหมายและแนวทางในการว่าความในคดีต่าง ๆ เป็นต้น งานในอาชีพบางงานอาจต้องการทั้งความรู้และทักษะการฝึกฝนควบคู่กันไป เนื่องจากเป็นงงานที่เกี่ยวกับชีวิต เช่น แพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถยนต์สาธารณะ เป็นต้น  แต่งานบางงานการลงมือปฏิบัติจริงจะทำให้เกิดความชำนาญได้เป็นอย่างดี เช่น งานช่างปูน ช่างไม้ ช่างซ่อมเครื่องจักรกล ช่างซ่อมรองเท้า ข่างตัดเย็บเสื้อฝ้า เป็นต้น ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อให้งานในอาชีพมีความสำเร็จราบรื่น จึงต้องมีการลงทุนเพื่อให้ได้ความรู้และประสบการณ์ในการทำงานนั้นให้ได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตามการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

 

ความก้าวหน้าของงานอาชีพ

ความก้าวหน้าทางอาชีพเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาซึ่งเป็นความต้องการที่จะนำชีวิตของตนเองไปสู่จุดหมายปลายทางของความสำเร็จ ถ้ามีโอกาสที่จัเป็นไปได้ บุคคลจะต้องรับแสวงหาโอกาสนั้น ๆ ทันที นอกจากปัจจัยที่เป็ยพื้นฐานส่วนบุคคล เช่น ความสนใจ สุขภาพร่างกาย บุคลิกภาพแล้ว ยังพิจารณาได้จาก ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในอาชีพ ได้แก่ ประสบการณ์ในงานอาชีพ เวลาและโอกาสของงานอาชีพ  พฤติกรรมการทำงาน  การปรับตัวให้เข้ากับงานอาชีพ  การเรียนรู้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทุกคนมักจะมองข้ามไปเมื่อคิดว่าตนเองมีความรู้เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอาชีพย่อมต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนทักษะ เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ หรือแม้แต่ให้ตนเองมีความตระหนักที่จะลับความรู้ของตนให้แหลมคมอยู่เสมอเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ความก้าวหน้าในงานอาชีพมีความแตกต่างกับความสุขในการทำงาน แต่มนุษย์ทุกคนย่อมอยากได้ทั้งสองสิ่งนี้พร้อมกัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็ย่อมจะเป็นความเจริญก้าวหน้าที่มีความราบรื่น แต่ในบางครั้งบุคคลอาจจำเป็นต้องเลือกระหว่างความก้าวหน้าในงานอาชีพ หรือความสุขในการทำงาน นอกจากนี้บุคคลยังอาจต้องเลือกระหว่างความสุขในการทำงานกับความสุขของครอบครัวอีกด้วย แต่ไม่ว่าจะต้องเลือกได้สิ่งใดก็มักจะพบว่ามนุษย์สามารถที่แสวงหาหนทางจัดการกับสิ่งที่ขัดแย้งเหล่าหนี้ให้เกิดความสมดุลได้ในที่สุดเสมอ

สรุป

            การประกอบอาชีพเป็นธุรกิจพื้นฐานที่มนุษย์ต้องทำเพื่อแสดงศักยภาพของตนให้เป็นที่ประจักษ์ งานทุกประเภทเป็นประดยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเสมอ ไม่มีใครที่จะสามารถทำเรื่องทุกเรื่องได้ในเวลาเดียวกันต้องมีการแบ่งเบาภาระหน้าที่กันออกไปเพื่อให้มีเวลาของการให้บริการและการรับบริการซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนทำให้มนุษย์รู้จักคำว่าพึ่งพาอาศัยกัน การดำรงชีวิตจึงจะมีความสุขดับการดำเนินชีวิต    อาชีพในปัจจุบันมีหลากหลายอาชีพแต่ละอาชีพต้องการบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะ        การวิเคราะห์ความสอดคล้องเพื่อการตัดสินใจเลือกอาชีพที่เหมาะกับตนเองโดยพิจารณาประเภทของงานอาชีพให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ตนเองและวิเคราะห์อาชีพและปัจจัยแวดล้อม เพื่อทำให้อาชีพนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ การเลือกอาชีพที่เหมาะกับตนเองทั้งในด้านต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง กับความก้าวหน้าในการงานอาชีพและความสุขที่ได้รับจากการทำงาน

เอกสารอ้างอิง

คณะวิทยาการจัดการ. (2547). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ. กรุงเทพมหานคร :มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต .***

ดำรงศักดิ์ ชัยสนิท และ สุนีย์ เลิศแสวงกิจ. (2548). ธุรกิจทั่วไป. กรุงเทพมหานคร : วังอักษร.

บทเรียนออนไลน์วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี. [Online], Available: http//:www.krusuree.th.gs

สถิตฐ์ธรรม เพ็ญสุขย์. (2537). ออร่า ดัท็กซ์. กรุงเทพมหานคร : กู๊ดมอร์นื่ง.

สุมาลี เกตุรามฤทธิ์. (2547). การจัดการธุรกิจ . กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ.

 

© Copyright 2005. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com