บทที่ 1
มนุษย์ฐานธุรกิจ
มนุษย์มีการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่
บนฐานของความต้องการที่เรียกกันว่าปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต 4 ประการ คือ
1) อาหาร น้ำ อากาศ 2) เครื่องนุ่งห่ม 3) บ้านที่อยู่อาศัย และ 4) ยารักษาโรค
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องมีการแสวงหาหรือผลิตขึ้นมา
ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถที่จะทำได้ทุก ๆ อย่างที่ต้องการ เช่น
มนุษย์สามารถที่จะปลูกข้าวเพื่อไว้กินเองได้ แต่ถ้าต้องทอผ้า ตัดเย็บเสื้อ
ผลิตเครื่องเรือน เช่น เก้าอี้ โต๊ะ เครื่องครัว เช่น กระทะ ช้อน จาน และอื่น
ๆ อีกมากมาย การผลิตสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คงต้องเสียเวลามาก
และถ้าทุกคนต้องผลิตและทำในสิ่งเดียวกันทั้งหมด ก็คงจะวุ่นวาย
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าคนเป็นหมอรักษาโรค หรือเป็นครูสอนหนังสือ
ก็ต้องพึ่งพาชาวนาให้ปลูกข้าว ชาวสวน ให้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก
พึ่งพาคนเก็บขยะให้นำขยะไปทิ้งเพื่อรักษาความสะอาดบ้านเรือน การทำสิ่งต่าง ๆ
ให้แก่กันและกันนี้ การช่วยกัน แบ่งปันหน้าที่กันทำงาน
เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และการสร้างหรือประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์เพื่อให้การผลิตได้ปริมาณมากเพียงพอแก่ความต้องการและมีประสิทธิภาพเป็นที่พึงพอใจนี้
เป็นวิธีการเบื้องต้นของการทำธุรกิจระหว่างกับขึ้น
บางครั้งมนุษย์อาจมีความต้องการที่ตอบสนองเพียงความต้องการชั้นพื้นฐานเท่านั้น
แต่บางครั้งมนุษย์ก็อาจเรียกร้องสิ่งอื่น ๆ
เพื่อตอบสนองความอยากได้มากกว่าความต้องการพื้นฐานก็ได้
ซึ่งอาจเป็นความต้องการแสวงหาความสุข ความสบาย ความสะดวก และความรวดเร็ว
อีกด้วย การดำเนินธุรกิจประเภทต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น
ความหมายของธุรกิจการดำเนินชีวิต
ความจริงแล้วในการดำเนินชีวิตของบุคคลนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
แต่เมื่อกล่าวถึงคำว่าธุรกิจ บุคคลมักจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว
หรือธุรกิจเป็นเรื่องที่ยากแก่การทำความเข้าใจหรือดำเนินการ จึงพบว่า
คนไทยส่วนใหญ่รู้ว่า การดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมนี้ คือ
การทำธุรกิจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวทั้งสิ้น
เพราะการกระทำที่ทำลงไปย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่อาจแปลผลด้วยการประเมินว่าเป็นกำไร
หรือขาดทุนได้เสมอ
ความสำคัญของธุรกิจการดำเนินชีวิต
จากการที่พบว่าธุรกิจที่ปรากฏในปัจจุบัน มีการดำเนินการในหลายรูปแบบ
ทั้งที่เป็นรูปแบบขององค์การธุรกิจ เช่น เครือซีเมนต์ไทย ธนาคารกรุงเทพ ฯ
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ต่างเป็นองค์การธุรกิจที่นำปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน
วัตถุดิบและเครื่องจักร มาใช้สร้างสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ซื้อ (ณัฏฐพันธ์
เขจรนันท์, 2005) หรือรูปแบบของการเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เช่น
ร้านขายเครื่องไฟฟ้า ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ร้านขายหมูกระทะ
จนถึงร้านรถเข็นที่เคลื่อนที่เข้าถึงลูกค้า เป็นต้น
ในมุมมองของบุคคลทั่วไปธุรกิจเหล่านี้น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างหรือพยายามแสวงหาผลกำไร
ซึ่งมีนัยของวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจที่ว่า คือ
การดำเนินการที่ทำให้ได้รายได้ (Revenue)
จากการทำธุรกิจมากกว่ารายจ่าย (Expenses)
ที่เป็นการลงทุน (Investment) ที่เกิดจากการผลิต
(Production) การขายสินค้า (Goods)
หรือการให้บริการ (Services) และกำไร คือ
สิ่งจูงใจที่ทำให้มีผู้ประกอบการ (Entrepreneur) หรือ
นักลงทุน (Investor) เกิดขึ้น และเรียกตนเองว่า
นักธุรกิจ (Businessman) เกิดขึ้นมากมาย มาดูรา
(Madura, 2004) กล่าวว่า
จากการสำรวจข้อมูลของกรมแรงงาน ของสหรัฐอเมริกา (US Labor Department)
ปรากฏว่ามีธุรกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้นในประเทศถึง 800,000
ธุรกิจทุกปี
ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่ามนุษย์เล็งเห็นธุรกิจจากการดำเนินชีวิตประจำวันของตนจึงทำให้มีธุรกิจใหม่
ๆ
เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาด้วยความจริงที่ว่าแล้วธุรกิจทุกประเภทต่างมีความสำคัญต่อมนุษย์และสังคม
ทั้งในด้านส่วนตนและส่วนรวมในท้องถิ่น
ธุรกิจไม่เพียงแต่เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือคุณค่าของสินค้าเท่านั้น
แต่ธุรกิจยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญงอกงามให้แก่มนุษย์และสังคม
ดังนั้นการดำเนินการทางธุรกิจจึงมีความสำคัญที่นอกเหนือไปจากการได้รับผลกำไร
ดังนี้
1.
ความสำคัญของธุรกิจสำหรับมนุษย์ในฐานะบุคคล
1.1
ความต้องการทางกายภาพที่สร้างความพึงพอใจในการดำเนินชีวิต
มีรายได้ที่เป็นเงินตรา หรือการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการ
ทำให้สามารถแสวงหาสิ่งที่ต้องการ
1.2 สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
ที่สามารถสร้างงาน แรงจูงใจให้เกิดความมานะพยายาม
การประสบความสำเร็จมองโลกในแง่ดี ความรู้สึกว่าเป็นผู้มีประโยชน์
มีเกียรติที่เกิดจากความสามารถของตนเอง จนเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
2.
ความสำคัญของธุรกิจสำหรับมนุษย์และสังคม
ธุรกิจมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของบุคคลในสังคมเนื่องจากวงจรของธุรกิจสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างกว้างขวาง
2.1 ความอยู่รอดของธุรกิจ ทำให้เกิดความอยู่รอดของมนุษย์และสังคม
ทุกธุรกิจต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อการผลิต ซึ่งเป็นวงจรสัมพันธ์ทางธุรกิจ
ธุรกิจผลิตวัตถุดิบ เพื่อนำส่งไปยังธุรกิจที่ทำการผลิต
ธุรกิจผลิตเครื่องจักรยนต์ เพื่อการผลิต เพื่อการขนส่ง
ก็มีส่วนเกี่ยวข้องต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการอยู่รอดร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจปรารถนา
นอกจากนี้ในปัจจุบันจะพบว่าวิถีของความอยู่รอดอาจทำให้ธุรกิจที่ต้องแข่งขันกัน
ต้องหันหน้าเข้าหากันและร่วมมือกันทำธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ
ด้วยการแบ่งปันผลกำไรซึ่งกันและกัน เช่น การรวมตัวกันของสายการบิน
ทำให้สามารถต่อเส้นทางการบินได้ทั่วโลก ทำให้เกิดการสร้างเครือข่าย
ขจัดการแข่งขันกัน และประหยัดเงินลงทุน ทั้งยังทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยกัน
เป็นต้น
การแสวงหาผู้ร่วมลงทุนก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงในด้านการขาดแคลนเงินลงทุน
เนื่องจากการทำธุรกิจโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นอาจประสบปัญหาได้
การมีเงินทุนสำรองจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการเพื่อปรับสถานการณ์ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ความอยู่รอดยังขึ้นอยู่กับ ทักษะทางด้านการคิด
และการดำเนินการด้านการตัดสินใจ ตลอดจนความรู้ในด้านบริหารจัดการด้วยเช่นกัน
2.2 ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาธุรกิจทำให้เกิดความเจริญของมนุษย์และสังคม
ธุรกิจที่มีความก้าวหน้าจะสามารถสร้างผลกำไรให้แก่องค์การ
เป็นตัวที่จะช่วยให้เกิดรายได้แก่ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน
รวมทั้งประชากรที่เป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในธุรกิจ ต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย
ความเจริญของธุรกิจก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
ประชากรมีรายได้ทำให้มีเงินจับจ่ายซื้อสินค้าที่ต้องการได้ สังคมมีความสงบสุข
ปราศจากโจรผู้ร้าย
เมื่อสังคมมีรายได้ย่อมเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติด้วยระบบภาษีและค่าบำรุงที่เป็นค่าธรรมเนียมในด้านธุรกิจต่าง
ๆ
การพัฒนาจนถึงขั้นสามารถเป็นสินค้าส่งออกได้ก็จะสามารถนำกำไรเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
เมื่อประเทศชาติมีรายได้ก็จะสามารถนำมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภค
พัฒนาให้เกิดมาตรฐานในด้านการดำรงชีวิตของประชาชนเพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานด้านกายภาพ
เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา ด้านสาธารณสุข การศึกษาของชาติ
รวมทั้งการป้องกันประเทศ
3.
ความสำคัญของธุรกิจในการสร้างสรรค์ทางธุรกิจสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
การดำเนินธุรกิจต้องอาพึ่งพาประสบกรณีที่เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้
เกิดการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ
การเรียนรู้ทางธุรกิจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคลทั้งที่เป็นกลุ่มภายใน
(In-
Group) และภายนอก (Out-Group)
องค์การ
4.
ความสำคัญของธุรกิจในการสร้างพลังแห่งความสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจทำให้เกิดกระบวนการกลุ่มเรียกว่า
กระบวนการมนุษยกิจสัมพันธ์ซึ่งอาจเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่บนฐานของความอยู่รอดร่วมกัน
ความสัมพันธ์กันทางธุรกิจเป็นตัวจักรที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม
ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชุมชน ในสังคมภายในและภายนอกประเทศ
และสังคมโลกทั้งมวลรวมกัน
จากแนวคิดที่เป็นวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจอาจนำมาประยุกต์เป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้
ด้วยหลักของการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินชีวิตในหลาย ๆ ด้าน
เช่น
1. ธุรกิจต้องการความอยู่รอด
(Survival) การทำธุรกิจต้องทำให้ได้ต้องคงอยู่
ชีวิตของมนุษย์ก็ต้องการดำเนินไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง คือ
ต้องสามารถอยู่รอดได้จนกว่าชีวิตจะสิ้นสุด
2. ธุรกิจต้องเจริญเติบโต
(Growth) ชีวิตมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน
ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตไปตามศักยภาพของร่างกายและจิตใจ
3. ธุรกิจต้องการมีกำไร
(Profit) กำไรของธุรกิจเป็นเงินตรา และสิ่งของที่หาเพิ่มเติม
แต่กำไรชีวิต คือ
ความสุขและความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจด้วยซึ่งไม่อาจตีค่า ๆ ได้
4.
ธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibilities)
มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม
การทำให้สังคมอยู่รอดและมีความสงบสุข
เป็นความรับผิดชอบตามหน้าที่ของสมาชิกที่ดีของสังคมไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจการค้าหรือไม่
ซึ่งก็หมายถึงการมีคุณธีมและจริยธรรมที่จะอยู่ร่วมกันในสังอย่างมีความสุข
สถานภาพของบุคคลในเชิงธุรกิจสังคม
มนุษย์ทุกคนจะมีสถานภาพเป็นที่ทำให้สามารถยืนอยู่ได้ ณ จุด ๆ
หนึ่งในสังคม เป็นสิ่งที่บ่งบอกตำแหน่งของตน เช่น
สถานภาพตามกำเนิดมนุษย์เกิดมาจะมีสถานภาพที่ได้รับมาตั้งแต่กำเนิด
สถานภาพทางครอบครัว สถานภาพทางสังคมที่เป็นชาติกำเนิด เช่น เชื้อชาติ สัญชาติ
วรรณะ และสถานภาพทางเพศ เช่น เพศหญิงหรือเพศชาย
สถานภาพเหล่านี้ไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย
ส่วนอีกสถานภาพหนึ่งนั้น ได้แก่ สถานภาพที่ได้รับทางสังคม เช่น
สถานภาพที่มาด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน การศึกษา เป็นต้น
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานภาพซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดบทบาทให้สอดคล้องกับสถานภาพนั้น
ๆ เช่น บุคคลอาจจะต้องแสดงบทบาทเมื่อมีสถานภาพของการเป็นพ่อ เป็นลูก เป็นครู
เป็นต้น
มนุษย์เมื่อมีชีวิตจะต้องดิ้นรนเพื่อให้ตนเองนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้
แต่มนุษย์ไม่สามารถที่จะผลิตทุกสิ่งทุกอย่างให้ตนเองได้ทั้งหมดอย่างครบถ้วน
จากที่กล่าวว่า มนุษย์ต้องการปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิตที่ดีและมีคุณภาพ
เช่น ไม่สามารถปลูกพืชภัณฑ์ธัญญาหาร ผลิตเครื่องนุ่งห่ม สร้างบ้าน
หรือแสวงหายารักษาโรคได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาสถานภาพที่ในเชิงธุรกิจนั้น
จะพบว่า มนุษย์มีสถานภาพที่แตกต่างกัน ตามเวลาและสถานที่ เช่น
เป็นผู้บริโภคสินค้า
ยามใดที่หิวก็จะต้องแสวงหาอาหารเพื่อทำให้ร่างกายได้พลังงานเพื่อการเคลื่อนไหวและทำงาน
เป็นต้น
ในทำงานเดียวกับมนุษย์ก็อาจเป็นผู้ผลิตเพื่อให้ตนเองและผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการผลิตนั้น
ๆ ดังนั้นในบางครั้งก็อาจมีธุรกิจที่ต้องแลกเปลี่ยนวัตถุดิบซึ่งกันและกัน
เพื่อนำไปแปรรูป วัตถุดิบที่นำไปประกอบเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์
การแลกเปลี่ยนเหล่านี้ ล้วนมีผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากการประกอบการนั้น ๆ
ทั้งสิ้น
ประโยชน์ของธุรกิจในการดำเนินชีวิต
การดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่อยู่ในยุคของโลกข้อมูลข่าวสาร
ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่รวดเร็ว
มีการดำเนินการในรูปแบบที่ต้องอาศัยเครื่องมือในการศึกษาข้อมูลและข่าวสารเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
มีคำกล่าวที่ว่า
การนั่งหลังพิงพนักเก้าอี้อาจทำให้ช้าไปเสียแล้วที่จะลุกขึ้นวิ่งให้ทันกับเหตุการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
แม้การยืนอยู่กับที่อย่างมั่นคงก็ยังเสี่ยงกับการที่ผู้อื่นจะก้าวล้ำหน้าไปได้เสมอ
ดังนั้นประโยชน์ทางด้านวิชาการทางธุรกิจจึงสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เสมอ
1. ธุรกิจสอนให้มีการวางแผน
ในการทำธุรกิจต้องมีการวางแผน ทั้งในด้านการดำเนินการ และการลงทุน
การมีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ เป็นต้น การดำเนินชีวิตก็เช่นกัน ชีวิตที่มีแบบแผน
มีเป้าหมายและแนวทางไปสู่ความสำเร็จย่อมจะดีกว่า ชีวิตที่ปล่อยไปตามยถากรรม
2.
ธุรกิจจะสอนให้บุคคลมีความละเอียดรอบคอบและมีเหตุผลในการวางแผนชีวิต ดังเช่น
ด้านการเงินและการทำบัญชีทางธุรกิจจะช่วยให้มองภาพความสมเหตุสมผลของการลงทุน
3.
ธุรกิจทำให้บุคคลได้ใช้พลังในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและให้ได้ประโยชน์แก่ตนเองละผู้อื่น
หรืออาจเรียกว่าให้ได้เป็นกำไรแห่งชีวิตมากกว่าที่จะเป็นการสูญเปล่า
หรือเสียประโยชน์ ซึ่งถ้าเกิดเหตุและผลจะนำมาสู่การวิเคราะห์เป็นข้อคิด
และเป็นบทเรียนที่ได้เรียนรู้เพื่อป้องกันความผิดพลาดในโอกาสต่อไป
4. ธุรกิจสร้างคุณค่าให้แก่บุคคล
บุคคลที่มีอาชีพเป็นของตนย่อมจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
รู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่าแก่สังคมด้วย.
5. ธุรกิจสร้างสังคม
ก่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร ทำให้เกิดความร่วมมือกัน มีการพึ่งพาอาศัยกัน
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจทำให้เกิดการพัฒนามีความเจริญก้าวหน้า
แต่ก็แฝงไว้ด้วยการแข่งขันเพื่อให้สามารถได้ใช้ทรัพยากร
โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรนั้นขาดแคลน
แต่อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเนื่องจากมนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคม
ดังนั้น
การสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขจึงเป็นเป้าหมายของชีวิตของทุกคน
สรุป
มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีวิถีทางในการดำเนินชีวิต
เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขทำความเข้านำธุรกิจมาประยุกต์ให้เข้ากับการดำเนินชีวิตประจำก็จะทำให้การดำเนินชีวิตมีแบบแผนตามสถานภาพทางสังคม
และสถานภาพทางธุรกิจเพื่อทำให้เกิดการสมดุลของการมีชีวิตด้วยการดำเนินธุรกิจชีวิตที่สามารถมองเห็นลู่ทางในการที่จะดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ
ซึ่งได้รับประโยชน์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
ซึ่งถือได้ว่าเป็นกำไรชีวิตซึ่งเป็นชีวิตที่ได้ดำเนินไปจนบรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกัน
การนำรูปแบบของการดำเนินการทางธุรกิจมาประยุกต์กับชีวิตประจำวันจะทำให้บุคคลสามารถนำพาตนให้เป็นไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่ต้องการได้ดีกว่าที่จะดำเนินชีวิตไปอย่างไร้รูปแบบและทิศทาง
ดังนั้นการดำเนินชีวิตบนฐานความรู้เชิงธุรกิจจะทำให้มนุษย์มีความละเอียดรอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต
|