ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







การสร้างตัวตนให้แก่นักเรียน

บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการสร้างตนให้แก่เยาวชนคือ ครู ในวันหนึ่ง นั้นนักเรียนจะอยู่กับครูเป็นส่วนใหญ่ มีการโต้ตอบด้วยคำพูด ด้วยน้ำเสียงกิริยา อาการแม้แต่การหัวเราะ พฤติกรรมเหล่านี้ย่อมบ่งบอกความคิดของครู ที่แสดงออกมาเป็นการรับรู้ในตัวนักเรียนทั้งสิ้น ครูจึงเป็นกระจกเงาแสดงภาพตัวตนของนักเรียนไม่ว่าจะด้วยทางตรงและทางอ้อมเสมอ

การรู้ว่าตนคือใคร คือ การรู้จักตนเองซึ่งหมายถึงการที่บุคคลรับรู้สิ่งต่าง ที่เกี่ยวกับตนเองไว้เป็นความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตน การรูจักตนเองจำเป็นต้องเป็นการรู้จักตนเองทั้งในด้านดี หรือไม่ดี แต่บุคคลอาจจะมีการรู้จักตนเองที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงก็ได้

ความคิดของตัวตน

ตัวตน หรือ ตน (self) หมายถึงตัวของบุคคลหนึ่งที่ประกอบด้วยกายและจิต ซึ่งเป็นอินทรีย์รวมของบุคคลนั้น โรเจอร์ส์ (Rogers) ได้แบ่งตัวตนของบุคคลออกเป็น 3 ประเภท คือ

ตนตามอุดมคติ (ideal self) คือตนที่วาดหวังไว้เป็นภาพของตนซึ่งมักจะสวยงาม ดีเลิศ ไม่มีใครที่จะวาดภาพตนเองในอุดมคติว่า เลว สกปรก ไร้ค่า อย่างแน่นอน ครูจะมีส่วนช่วยให้นักเรียนคงความหวังในตนเองตามอุดมคติได้ด้วยการเพิ่มคุณค่าให้แก่ตัวนักเรียน เสริมสร้างหรือตกแต่งให้ฝันของนักเรียนเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีทิศทางที่มุ่งไปสู่ควาใมสำเร็จ พฤติกรรมที่การลบล้างความคิดที่ดีเกี่ยวกับตนเองของนักเรียน เช่นการประมาส หรือตราหน้า ทำให้เกิดความอับอาย จะทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกท้อใจและหมดหวังที่จะนำตนเองไปสู่จุดหมายที่ประสงค์ พฤติกรรมของครูจึงอาจลบล้างความฝันนั้นไปจากภาพที่ได้วาดหวังไว้อย่างสวยงามโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้

ตนตามการรับรู้ (perceived self) คือตนที่ถูกรับรู้ว่าคือตัวเรา การรับรู้ตนในระดับนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในจิตใจทันทีถ้าการรับรู้นั้นยังไม่ได้ลงสู่ขั้นการยอมรับตนเอง นักเรียนบางคนอาจจะแสดงอาการขัดแย้งกับการรับรู้ของครูที่ตัดสินตัวเขาอย่างผิด เช่น เธอเป็นคนเกเร เธอเป็นหัวโจก เป็นต้น ด้วยการแสดงออกที่ก้าวร้าวและปฏเสธตนที่ถูกให้รับรู้ การยัดเยียดการรับรู้ให้แก่นักเรียน เท่ากับเป็นการให้แรงเสริมลบแก่เขา และเพื่อที่เขาจะได้รับแรงเสริมบวกเขาก็จะยอมรับเอาการรับรู้นั้นเป็นการรับรู้เกี่ยวกับตนเองและทำให้เป็นจริงดังที่ผู้อื่นรับรู้ในตัวเขา

ตนตามความเป็นจริง (real self) คือตนที่เป็นจริงตามที่ตนเองและผู้อื่นรับรู้ การยอมรับจากผู้อื่นว่าเป็นเช่นนั้นจริง เป็นการเสริมแรงให้มีความเชื่อมั่นในตนเองเกิดขึ้น ไม่ว่าความเชื่อมั่นนั้นจะเป็นพฤติกรรมบวกหรือลบก็ตาม

การรับรู้ตน ยังมีการแบ่งออกในรูปแบบอื่น เช่น โบล์ส์และดาเวนพอร์ท (Boles and Davenport เริงชัย หมื่นชนะ และคณะ 2538 : 26-27) ได้แบ่งตัวตนออกเป็น 5 รูปแบบ คือ

  1. ตัวตนที่คาดหวัง (self expectation) เป็นตัวตนในอุดมคติ ซึ่งบุคคลนั้นคาดหวังและมีความปรารถนาที่จะนำตนไปสู่จุดหมายนั้น ตัวตนในอุดมคติจึงเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้บุคคลพยายามที่จะแสวงหาแนวทางให้ตนได้

  2. ตัวตนที่รับรู้และมองเห็น (self perception) เป็นตัวตนในปัจจุบันที่บุคคลเข้าใจว่าตนเป็น และยอมรับว่าเป็นตัวเรา

  3. ตัวตนที่เป็นจริง (self assessment) เป็นตัวตนที่บุคคลนั้นเป็นอยู่จริง ไม่ว่าตนเองจะยอมรับหรือไม่ ตัวตนที่เป็นจริงของบุคคล เกิดจากการประเมินอย่างมีหลักเกณฑ์

  4. ตนที่ผู้อื่นคาดหวัง (other expectation) เป็นตัวตนที่ผู้อื่นคิดวาดภาพจากสิ่งที่พบเห็นในตัวบุคคลหนึ่งเอาไว้ จึงเป็นภาพที่ถูกเก็บไว้

  5. ตนที่คนอื่นรับรู้ (other perception) เป็นตัวตนที่บุคคลอื่นรับรู้เกี่ยวกับตัวเราโดยสร้างขึ้นเป็นความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตัวของบุคคลนั้นๆ เป็นการรับรู้ในมุมมองของบุคคลอื่น โดยการประมวลจากการรับรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ไม่ว่าการรับรู้ตนจะแบ่งรูปแบบอย่างไร บุคคลย่อมมีการรับรู้ตนเองทั้งสิ้นการรับรู้ตนเองในทางที่ดีก็จะทำให้เกิดความสุข สดชื่น การรับรู้ตนเองในทางที่ไม่ดีก็จะทำให้เกิดอาการเครียด และแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จนถึงขั้นทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้

การยอมรับตัวตน

การยอมรับตัวตน คือ การที่บุคคลยอมจำนนและเกิดความคิดและเข้าใจในตนเอง การยอมรับตัวตนเกิดจาการที่บุคคล วิเคราะห์ตนเองจากผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม บุคคลจะยอมรับตนเองได้ต่อเมื่อเกิดความเข้าใจในตนเอง แต่การที่จะยอมเปลี่ยนแปลงตนเองหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตของบุคคลผู้นั้น จึงพบว่าแม้จะรู้ตัวว่าไม่ดี แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้มาก

การวิเคราะห์ตนเองจะทำให้บุคคลเกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง เพราะในชีวิตจริงแล้วบุคคลจะรับรู้ตนเองที่เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงบ้าง เนื่องจากเกิดจากความต้องการที่จะให้ภาพลักษณ์ของตนเองเป็นเช่นนั้น ตามความอยากจะเป็น เช่น แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงความก้าวร้าว แสดงความสามารถ ผลของการแสดงออกมาอาจจะทำให้ผู้อื่นเกิดการรับรู้ตามที่เห็นหรือไม่ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการแสดงพฤติกรรมในสังคมอาจต้องมีการแสแสร้งและมีการเกรงใจกันและกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการปรักปรำ ใส่ร้ายเพื่อทำร้ายกัน จึงก่อให้เกิดการพิจารณาพฤติกรรมเชิงซ้อนขึ้น เป็นการยากที่จะทำให้เกิดการรับรู้หรือตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณาตนเองอย่างเปิดใจกว้าง จะทำให้เกิดการยอมรับตนเองได้ดีที่สุด เพราะเป็นการแสดงตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ จากทฤษฎี หน้าต่างของ โจฮาริ เมื่อเปิดใจกว้างช่องที่1 ก็จะถูกเปิดกว้างเพื่อแสดงตนเองอย่างเปิดเผย ทำให้ได้รู้จักกันและกัน แต่การเปิดกว้างนั้นยังมีสิ่งที่อยากจะปิดบังไว้บ้างเนื่องจากเป็นความลับที่ไม่ต้องการจะให้ใครได้รู้จนกว่าจะมีความไว้วางใจ กัน ในขณะเดียวกันการแสดงตนเองจะทำให้ผู้อื่นรู้จักเรามากขึ้นจนสามารถเข้าใจในสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ตัวตนนั้นโดยพฤติกรรมที่แสดงออกมาโดยไม่ตั้งใจ และสุดท้ายก็จะพบว่าไม่มีใครเข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้เพราะยังมีความลึกลับอีกมากมายซ่อนอยู่ภายในตัวคนไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ และถ้าเกิดการรู้ขึ้นมาก็จะรู้สึกแปลกใจที่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

การรู้จักตัวตนของตนเองควรเริ่มต้นจากการศึกษาตนเองก่อน เพื่อที่จะสร้างความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับตนเองให้ได้ เมื่อเกิดความไม่แน่ใจจึงเริ่มการค้นคว้าเพื่อให้ได้ข้อมูลโดยการสังเกตตนเอง สังเกตการตอบสนองจากผู้อื่น หรือการสร้างความเข้าใจระหว่างตนเองกับผู้อื่น เป็นต้น

บุคคลจะมีความสุขและรู้สึกสบายใจในการยอมรับตนเอง และเข้าในตนเอง ความสุขที่ได้จากการยอมรับตนเองมาจากการที่บุคคลสามารถสรุปได้ว่า ตนเองเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดการก้าวไปสู่การจัดการตนเองในระยะต่อมา ซึ่งอาจทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมเพื่อย้ำว่าตนเป็นเช่นนั้นจริง เช่นครูที่มักจะกล่าวโทษเด็กว่าเป็นเด็กขี้ขโมย หรือ เป็นเด็กเกเร ซ้ำ หลาย ครั้งก็จะก่อให้เกิดการรับรู้ตนเองในที่สุดว่าตนเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะแสดงพฤติกรรมให้ถูกต้องกับสิ่งที่ตนรับรู้ แต่พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกคับข้องใจทุกครั้งที่แสดงพฤติกรรม เนื่องจากบุคคลจะไม่ยอมรับว่าตนเองไม่ดี แต่ผลของการทำพฤติกรรมคือการได้ของที่ตนพอใจซึ่งเป็นของ คนอื่นมาเป็นของตน ทำให้เกิดความสุข ประกอบกันกับมีการถูกรับรู้ว่าเป็นขโมย ความสุขที่ได้รับจะเป็นตัวทดแทนความคับข้องใจที่ถูกตราหน้าว่าขโมยได้

แนวคิดในการสร้างตัวตนน่าจะเป็นแนวทางที่ครูจะช่วยนักเรียนให้การปรับพฤติกรรมการตระหนักรู้ตนเองเพื่อนำไปสู่การกระทำพฤติกรรมที่ดี ซึ่งย่อมต้องเป็นหน้าที่ของครูอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ การให้แรงเสริมบวกและลบไม่ถูกต้อง การแสดงอาการไม่เชื่อด้วยอาการที่เยาะเย้ย การแสดงคำพูดที่ไม่บ่งบอกถึงความจริงใจปกปิดความเมตตาของครูไม่ให้ศิษย์ได้สัมผัสย่อมทำให้กระจกเงานั้นปิดเบี้ยวไปอย่างน่าเสียดายเวลาและความพยายามในการที่จะทำหน้าที่ที่ดีของครูในฐานะครูมืออาชีพของชาติ

© Copyright 2005. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com