ดร.สุภัททา ปิณฑะแพทย์

Dr.Supatta Pinthapataya

email: supattapin@yahoo.com







นักบริหารมืออาชีพ

 

รศ. คร. สุภัททา ปิณฑะแพทย์

การบริหารงานในทุกองค์การในยุคปัจจุบันต้องการนักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่ผู้บริหารจัดการให้ก้าวทันโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความเจริญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารทั้งภายในและภายนอกองค์การ อันเป็นภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อการแข่งขันและความร่วมมือ นักบริหารมืออาชีพเท่านั้นจึงจะสามารถนำองค์การไปสู่ความสำเร็จได้

 

คำนิยาม นักบริหารมืออาชีพ

นักวิชาการได้ให้นิยามของคำว่านักบริหารมืออาชีพไว้ พอสรุปได้ดังนี้ 

1. นักบริหารมืออาชีพ คือ นักบริหารที่บริหารองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยพลังของภาวะผู้นำ (Leadership forces)

 จันทนา สุขุมานันท์ รองประธานของปูนซีเมนต์ไทย ได้กล่าวถึง (2 ตค. 2548 11.30 PM แมกไม้บริหาร UBC ) การบริหารจัดการในรูปแบบของนักบริหารจัดการองค์การ ทีต้องการให้องค์การนั้นต้องมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ต้องวางแนวความคิดในด้านการบริหารจัดการภายในองค์การรวมทั้งการมีภาวะผู้นำที่ดี

1) การสร้างความเชื่อมโยงแบบพันธมิตร  (Organizational Alliance = OA) ผู้บริหารจัดการต้องยึดหลักของการสร้างความเชื่อมโยงถ่ายทอดข่าวสารให้บุคลากรในระดับต่าง ๆ ร่วมรับรู้ข้อมูลที่เป็นขององค์การ  การจัดการระบบการรับรู้ข่าวสารข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์ในด้านการมองภาพขององค์การให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถตอบคำถามให้แก่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้การสื่อสารที่ดียังมีผลทางด้านจิตวิทยาเพราะสามารถปลุกระดมให้ทุกคนมีความคิดไปในทิศทางเดียว การให้ข้อมูลข่าวสารเปรียบเสมือนกับการทำการตลาดภายในองค์กรนั้น ๆ ให้บุคลากรได้ทำความเข้าใจ กับแนวการบริหารงานขององค์การนั้น (Organizational design)

2) การนำสู่การเปลี่ยนแปลง (Leading Organization through Transformational Change = LOTC) ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงคือผู้ที่เข้าใจความต้องการขององค์การเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ เช่น  ต้องการอะไร การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจาก  รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนด้วยกระบวนการต่าง ๆ  เพื่อให้ได้ความต้องการนั้น ๆ ให้เป็นจริง ให้หลักยุทธศาสตร์การสนทนา (Strategic conversation) เพื่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทีมงาน มีการเจรจาหาข้อตกลงในการดำเนินการเพื่อให้ไปถึงจุดหลายที่วางไว้ สร้างกระบวนการทำงานด้วยกัน สำหรับในด้านลูกค้าองค์การต้องเข้าใจจิตวิทยาการบริโภคสินค้าของกลุ่มเป้าหมายเพื่อแสวงหาความต้องการของลูกค้า ผู้นำต้องมองตลาดภายนอกได้ สร้างความแตกต่างเพื่อการแข่งขัน เพื่อการได้เปรียบ ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

3) ศึกษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นทรัพยากรและเครื่องมือในการทำงาน (Resource and tools) การบริหารองค์การต้องศึกษาทรัพยากรที่มีอยู่ ที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินการขององค์การ ทรัพยากรด้านเครื่องมือเป็นปัจจัยที่ทำให้รู้ว่าองค์การมีความพร้อมและมีศักยภาพในการทำกิจการประเภทใด และทรัพยากรที่มีอยู่นั้นมีการบำรุงรักษาให้คงสภาพการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) ศึกษาศักยภาพขององค์กร (Organizational Competencies = OC) ว่ามีความสามารถหรือมีคุณภาพที่จะปฏิบัติงานได้ดี ต้องศึกษาว่าควรต้องเสริมส่วนที่เป็นช่องว่าง เช่น เพิ่มเติม หรือต้องฝึกอบรมทักษะใหม่ ๆ องค์กรขาดอะไร ต้องมีความรู้เพิ่มเติมในด้านใด ศักยภาพของบุคลากรต้องสมดุลกับทรัพยากรที่เป็นเครื่องมือปฏิบัติงานขององค์การด้วย องค์การต้องจัดให้มีการประเมินเพื่อการพัฒนา โดยมีการประเมินตนเอง เพื่อนประเมิน นายประเมิน ลูกน้องประเมิน (Personal Development Index = PDI)

5) สร้างแรงจูงใจ (Employee Motivation Performance = EMP) การสร้างความรู้สึกสนุกกับการทำงานให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุข รักองค์กร มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่ใช่มาทำงานเพื่อเงิน คนที่ทำงานเพื่อองค์กร จะพยายามพัฒนาตนเอง  ผู้บริหารในฐานะนำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน คือรู้ว่าต้องการอะไร และจะทำอย่างไรจึงจะสัมฤทธิผล สื่อสารให้ทุกคนรู้ ประเมินสภาพแวดล้อม รู้ศักยภาพขององค์กร กระตุ้นให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยการจูงใจ

2. นักบริหารมืออาชีพ คือ นักบริหารที่สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value-added Managers = VM)

          ในการบริหารงานในปัจจุบันทุกองค์การใช้ประสิทธิภาพของตัวผลผลิตเป็นตัวแสดงผลสัมฤทธิ์ขององค์การและมักจะเป็นตัววัดเปรียบเทียบของการบริหารจัดการและความสำเร็จขององค์การ ในยุคปัจจุบันนี้การบริหารงานไม่ใช่เพียงแต่ให้งานเสร็จลุล่วงไปเท่านั้น แต่งานที่ทำต้องเป็นผลงานที่ดีที่สุดมีความคุ้มค่าเหมาะสมกับทรัพยากรที่ใช้ซึ่งก็คือ คนและวัสดุอุปกรณ์ (man and material)

การสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่การบริหารจัดการเป็นบทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารซึ่งเป็น ผู้ที่คำนึงถึงการที่จะวางรูปแบบของงานเป็นหลักในขณะที่ภาวะผู้นำเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ที่ผู้บริหารควรจะต้องมีความเป็นผู้นำ ต้องวางกลวิธีที่จะให้บุคคลในองค์การเข้าเคลื่อนตัวเข้ามาสู่การปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ ผู้บริหารที่ดีจะสร้างและวางเงื่อนไขจำเป็นเพื่อที่จะให้เกิดความแน่ใจในผลผลิตรับสูง เพื่อทำให้ได้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน เป็นการปฏิบัติงานเพื่อหน่วยงานของตนและเพื่อองค์การโดยส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ต้องการความร่วมมือร่วมใจและพร้อมที่จะเข้าร่วมทำงานเพื่อความสำเร็จ อันเป็นการแสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานของบุคคลแต่ละคนรวมกันเป็นผลงานของหน่วยงานและขององค์การ โดยมีตัวชี้วัดสองประการซึ่ง วูด (Wood, 2001) กล่าวไว้ ประการแรก คือ ประสิทธิภาพของการปฏิบัติการ ซึ่งวัดได้จากการให้ความสำคัญของเป้าหมายของงานที่บรรลุถึงได้ และประการที่สองคือ ประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน ซึ่งวัดได้จากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

      ดี                                                               ดีมาก

มีประสิทธิภาพแต่ไม่มีประสิทธิผล เนื่องจากมีทรัพยากรสูญเสีย

 

 

มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ได้ผลิตผลในระดับสูง

เป็นบริเวณที่การบริหารจัดการประสบผลสำเร็จ

ไม่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่บรรลุเป้าหมาย ทรัพยากรสูญเสีย

มีประสิทธิผลแต่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่การสูญเสียทรัพยากรแต่ไม่บรรลุเป้าหมาย

                        ไม่ดี                                                                             ดี

ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติการ

 

ภาพที่  1  แสดงการปฏิบัติการของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหาร (Wood, 2001)

 องค์การที่มีผลผลิตสูงมักมีผู้บริหารที่สร้างคุณค่าเพิ่ม ซึ่งมีความพยามที่จะให้งานประสบผลสำเร็จด้านการผลิตในระดับสูงและพัฒนาระบบการทำงานเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน ผู้บริหารที่มีคุณค่าเพิ่มสร้างสรรค์ระบบการทำงานที่ให้ผลผลิตที่สูงและสร้างแนวทางให้กลุ่มทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีนำผลประโยชน์มาสู่องค์การและลูกค้า ผู้บริหารที่มีคุณค่าเพิ่มจะสร้างแรงจูงใจให้เป็นรางวัลที่ได้จากความพึงพอใจในอาชีพ ในยุคที่องค์การพยายามปรับโครงสร้างและลดขนาดลงและมักจะออกแบบการบริหารจะการให้ลดระดับของการบริหารลง ผู้จัดการที่มีคุณค่าเพิ่มจะไม่ค่อยมีปัญหามากนักในการที่จะใช้เหตุผลในการทำงาน จากข้อแนะนำของที่ปรึกษา ทอม ปีเตอร์ส ซึ่งกล่าวว่า สำหรับผู้บริหารระดับกลางที่มีคุณค่าเพิ่ม คือ ที่ปรึกษางาน ผู้สร้างสัมพันธ์กับหัวหน้าสายงานอื่น ๆ สร้างสรรค์โครงการ ดูแลเงินเดือนและสวัสดิการในการทำงาน (Wood, 2001) 

3. นักบริหารมืออาชีพ คือ นักจัดการทรัพยากร (Human resources)

ในมุมมองของนักพฤติกรรมศาสตร์ นักบริหารจัดการจะต้องเรียนรู้วิวัฒนาการของการบริหารจัดการทรัพยากรในองค์การ ที่มีการพัฒนาการรูปแบบการบริหารจัดการต่าง ๆ  จากมุมมองของการบริหารแบบวิทยาศาสตร์ มุมมองการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นมนุษยสัมพันธ์และพฤติกรรมศาสตร์ (Hoy, 1991) ในแง่ที่จะเติมเต็มแนวคิดของมนุษยสัมพันธ์ในการบริหารงานในการพิจารณาถึงผลกระทบของความสัมพันธ์ทางสังคมและโครงสร้างที่เป็นทางการขององค์การ มักจะมีการวิเคราะห์องค์การในรูปแบบของระบบ เช่น ระบบเหตุผล ระบบวางแผน และระบบกำกับ เป็นต้นซึ่งแต่ละระบบตอบสนองแนวคิดว่าผู้บริหารมององค์การในแง่ของโครงสร้างอย่างเป็นทางการมากกว่าระบบที่เป็นตัวนำการปฏิบัติหรือมองทรัพยากรบุคคลสำคัญ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเครื่องมือที่กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยน

          4. นักบริหารมืออาชีพ คือ ผู้จุดประกาย (Inspirer)  

นักบริหารมืออาชีพต้องมีความสามารถในการจุดประกายให้ผู้ปฏิบัติเกิดความฮึกเหิม พร้อมที่จะตกลงใจเข้าร่วมทำงานอย่างเต็มที่  การที่จะเป็นผู้บริหารที่น่าเชื่อถือในระดับสูงของหน่วยงานได้นั้นเป็นผลที่สืบเนื่องและเกี่ยวข้องจากความมุมานะของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและทีมงานที่ทำให้เกิดผลงานที่เป็นไปได้ตามความคาดหวัง ในขณะเดียวกันเกิดจากการเป็นผู้รับผิดชอบในงานและเป็นที่พึ่งพาของผู้ที่เข้ามาร่วมทำงาน สร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดประกายความสุขในขณะปฏิบัติงาน และเพิ่มพลังวามคิดที่จะสืบสานงานให้มีความโดดเด่นมากขึ้น

 

คุณสมบัติของนักบริหารมืออาชีพ

ในการเป็นนักบริหารมืออาชีพนั้นจำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับในระดับพื้นฐานและในระดับสูง ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดความเป็นมืออาชีพได้  

1. คุณสมบัติด้านส่วนบุคคล

จำลอง นักฟ้อน (http://www.moe.go.th/wijai/road%20map.htm  26 ตค 48   เส้นทางสู่นักบริหารการศึกษามืออาชีพ ) ได้สรุปคุณสมบัติที่รวบรวมข้อมูลที่มีผู้จำแนกไว้เป็น คุณสมบัติส่วนบุคคลของผู้ที่จะเป็นนักบริหารมืออาชีพไว้ 10 ประการ ได้แก่ 1) มีความรับผิดชอบสูง 2) มีความขยันหมั่นเพียร 3) มีความอดทน/อุสาหะ 4) มีความซื่อสัตย์สุจริต 5) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 6) มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์/กระตือรือร้นในการทำงาน 7) มีทักษะในการวินิจฉัยสั่ง การ 8) มีการรักษาระเบียบวินัยที่ดี 9) มีความตรงต่อเวลา/การบริหารเวลา 10) มีบุคลิกภาพที่ดี

2. คุณสมบัติด้านการศึกษา

การกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหารนั้นมีผู้เสนอความคิดว่าควรมีความรู้ในด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในการที่จะแสดงความนักบริหารมืออาชีพนั้น จะต้องมีวิสัยทัศน์กว้าง นักบริหารมืออาชีพจึงต้องใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ศึกษาหาความรู้ จากประสบการณ์และการอบรม เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการ  ดังเช่น ในวงการการศึกษาที่มอกเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้บริหารให้เป็นมืออาชีพ ด้วยความคิดนี้ในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้บริหารการศึกษาต้องมีใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ต้องมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารตามที่กำหนด  เช่น จบปริญญาตรีทางบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่า โดยกำหนดเป็นนโยบายว่านักบริหารควรต้องมีวุฒิการศึกษาด้านการบริหารการศึกษาหรือได้รับประกาศนียบัตรทางบริหารการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น  และให้มีความรู้ในด้านระเบียบกฎเกณฑ์ทางราชการ การดำเนินการด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ กฎระเบียบทางราชการและของหน่วยงาน เป็นอีกความรู้หนึ่งที่ต้องมีการพัฒนาอบรมเพื่อการริหารงานอย่างเป็นระเบียบ ด้านงบประมาณ

ในการบริหารงบประมาณนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักบริหารมืออาชีพ เนื่องจาก การเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ การวางแผนงบประมาณ รายรับและรายจ่ายที่ดีจะทำให้การบริหารงานมีความสะดวกคล่องตัวและบรรลุวัตถุประสงค์และสามารถดำเนินกิจกรรมไปตามแผนที่วางไว้ซึ่งจะเป็นหลักประกันในขั้นต้นว่าได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้และได้ผลลัพธ์ที่คาดหวัง  

3. คุณสมบัติที่เป็นด้านประสบการณ์ และผลสำเร็จในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา    

คุณสมบัติด้านประสบการณ์การทำงานเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการบริหารจัดการ ซึ่งประเมินได้จากผลงานและประสบการณ์ที่ผ่านมาในภารกิจหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติซึ่งจำแนกออกได้ดังนี้ คุณวุฒิ/ประสบการณ์/ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ที่ผ่านมาตามภารกิจหน้าที่กำหนดหรือเกี่ยวข้อง  ผลสำเร็จในการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถและงานที่ปฏิบัติจนบรรลุผล ตามแผนการดำเนินงานและแผนพัฒนางาน ฯลฯ ในตำแหน่งหน้าที่ที่จะปฏิบัติงาน

 

ความเก่งกล้าแบบนักบริหารมืออาชีพ

บุคคลที่ทำงานในทุกวงการอาชีพย่อมต้องการที่จะได้ชื่อว่าทำงานในอาชีพนั้นอย่างมืออาชีพเพราะการได้ชื่อว่าเป็นมืออาชีพเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถทำงานในอาชีพอย่างมีคุณค่า เป็นการแสดงศักยภาพของตนเอง ความเป็นมืออาชีพนั้นมักจะได้มาไม่ง่ายนัก  ชมพูนุช อัครเศรณี (2547 หน้า 244) กล่าวว่า การเป็นมืออาชีพไม่ได้ตัดสินจากเฉพาะองค์ประกอบเชิงรูปธรรม อาทิ ผลกำไรมากมาย เงินเดือนสูง หรือใช่ชุดเครื่องแต่งกายมาทำงานอย่างหรู แต่คนเป็นมืออาชีพมีองค์ประกอบ ลักษณะและการปฏิบัติบางประการอันแน่ชัดในเชิงรูปธรรมบ่งบอกถึงความเก่งกล้าที่เป็นสากลหลายประการ เช่น

ประการแรก ความเก่งกล้าในการรู้จักบทบาทและหน้าที่ของตน และพร้อมทั้งเข้าใจบทบาทของตนและผู้อื่น มืออาชีพจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานที่เป็นความรับผิดชอบของผู้อื่นถ้าไม่ได้รับดังนั้นถ้าไม่ได้นับการมอบหมายจากผู้มีอำนาจสั่งการหรือได้รับการร้องขอ  การให้ความเห็นใจเข้าไปช่วยเหลืออาจนำผลเสียมาสู่องค์กรได้ การกระทำเช่นนี้อาจกลายเป็นการก้าวก่ายการทำงานของผู้อื่น มืออาชีพจึงมักมีความระมัดระวังในการสั่งการให้บุคคลที่ตนมีอำนาจสั่งการทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้ดีที่สุด ผู้บริหารที่ชอบสั่งการไปทั่วจึงเกิดภาพลักษณ์ว่าก้าวก่ายหรือล้ำเส้นผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในองค์กรและแตกความสามัคคี แนวความคิดนี้ไม่ใช่เป็นการเสนอแนะให้เกิดความคิดว่าธุระไม่ใช่แต่เป็นการสร้างความตระหนักให้เข้าใจว่าควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการงานของหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างไร และในขอบเขตใด

ประการที่สอง  ความเก่งกล้าในการคิดเองทำเองได้ เมื่อมีงานที่ต้องจัดการบริหารให้ประสบความสำเร็จ ก็สามารถแสวงหาแนวทางในการดำเนินงานนั้นได้จนบรรลุเป้าหมายโดยไม่ต้องให้มีการสั่งการเป็นคำสั่งในแต่ละขั้นตอน มีความคิดในการแก้ปัญหาได้  การคิดเองได้คือความสามารถของบุคคลที่มองเห็นลู่ทางในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้ อาจเป็นการแสวงหาแนวทางเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของงานที่วางไว้ อาจเป็นการคิดหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือการ งานบางอย่างต้องการการคิดหาแนวทางที่ การสังเกตว่าบุคคลที่ทำงานหนึ่งงานใดคิดเองได้ คือ การสังเกตการปฏิบัติ

ประการที่สาม ความเก่งกล้าในการรับผิดและรับชอบในสิ่งที่กระทำและผลที่จะได้รับ ยอมรับและจัดการกับผลงานนั้นทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ยอมรับความดีและความผิดพลาดและพร้อมที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ไม่โยนความผิดหรือคิดหาทางถ่ายเทปัญหาไปให้ผู้อื่น ผู้นักบริหารที่ไม่ใช่มืออาชีพมักจงใจผลักดันปัญหาไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคือคนอื่น มืออาชีพจะไม่ขยายความผิดพลาดให้แก่ผู้อื่นหรือทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น และจะไม่ปิดบังหรือกลบเกลื่อนความผิดของตนเองด้วยการให้ร้ายผู้อื่น จะไม่พูดแก้ตัวแต่จะขอโทษและขอโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

ประการที่สี่ ความเก่งกล้าในการตัดสินใจ ในการบริหารงานนั้นผู้บริหารต้องตัดสินใจซึ่งในบางครั้งจำเป็นต้องมีการตัดสินใจในระยะเวลาที่จำกัดในการหาข้อมูลเพียงพอเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ แต่เมื่อจำเป็นเร่งด่วนนักบริหารมืออาชีพจะสามารถพิจารณาเลือกและไม่ลังเลที่จะตัดสินใจได้ในทันทีแม้ว่าจะมีความหนักใจเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นอยู่บ้าง มืออาชีพต้องไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคในการบริหารจัดการเพราะการลังเลในการตัดสินใจอาจทำให้ช้าจนเกินการ นอกจากนี้นักบริหารมืออาชีพควรสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองในขอบเขตที่ตนได้รับมอบหมายและไม่พยายามที่จะโอนอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้อื่นทำแทนตน นักบริหารมืออาชีพต้องมีความมั่นใจว่าการตัดสินใจนั้นจะสร้างความสำเร็จในงานที่ทำและปัญหาคือสิ่งที่จะต้องระวังแก้ไขให้ผลงานบรรลุเป้าหมายให้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการตั้งมั่นในหลักการและมีความคิดในเชิงบวกกับการงานและผู้เกี่ยวข้อง

ประการที่ห้า ความเก่งกล้าในการให้เกียรติผู้อื่น นักบริหารต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตนตามมารยาททางธุรกิจและสังคม  การเป็นมืออาชีพคือการนับถือตนเองและนับถือผู้อื่น แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นแค่เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พึงระลึกว่าทุกคนมีทัศนคติที่เป็นความคิดของตนเอง ทุกคนอาจมีความเลื่อมล้ากันในหน้าที่การงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการทำงาน และความรู้ในเชิงวิชาการ แต่ทุกคนมีมีความเสมอภาคกันในด้านศักดิ์ศรีและเกียรติยศในความเป็นคน

ประการที่หก ความเก่งกล้าในการรักษาเกียรติของตนเอง ในโลกของการทำงานนั้นผู้นำมืออาชีพต้องไม่ทำสิ่งที่ทำให้ตนเองมัวหมองและเสื่อมเสียเกียรติยศ แม้ในยามที่พ่ายแพ้ก็ยังรักษาเกียรติยศของตนไว้ได้อย่างสง่างามด้วยตัวของตนเอง มีน้ำใจเป็นนักกีฬาซึ่งทำให้ไม่คิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ชนะ นักบริหารมืออาชีพจะไม่โทษตนเองและผู้อื่น แสดงวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วยการไม่ด่าทอ อาละวาดหรือ แสดงกิริยาวาจาที่ก้าวร้าง เสียดสี การแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อหน้าผู้อื่น เพราะรู้สึกเสียหน้า ทำให้เสียผลประโยชน์เท่ากับว่าไม่สามารถรักษาเกียรติของตนไว้ได้ ผู้บริหารมืออาชีพจึงต้องมีทักษะในการพาจิตของตนเองออกจากสถานการณ์หรือวางเฉยเท่าที่จะทำได้อย่างดีที่สุด นักบริหารมืออาชีพต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดที่แน่นอน ความพ่ายแพ้ในวันนี้เป็นเพียงการไม่มีโอกาสแต่ความมุ่งมั่นไม่ท้อถอยอาจทำให้โอกาสหวนกลับมาอีกได้ในวันหนึ่ง การหยุดพักและสงบนิ่งในช่วงหนึ่งจึงไม่ใช่เป็นการเสียเวลาแต่เป็นเวลาที่ดีในการเติมพลังเพื่อก้าวเดินต่อไป

ประการที่เจ็ด ความเก่งกล้าในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี นักบริหารมืออาชีพต้องเข้าว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อโลกและสังคมเปลี่ยนไปการปรับตัวกับระบบการทำงานในรูปแบบที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อรองรับเป็นสิ่งที่จำเป็น ผู้บริหารที่สามารถปรับตัวให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเท่าใดก็จะสามารถปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของการบริหารงานได้เร็วเท่านั้น  การต่อต้านการเปลี่ยนในขณะที่ยังไม่ได้ยอมรับหรือลงมือปฏิบัตินำความเสียหายมาสู่องค์การอย่างแน่นอนในฐานะนักบริหารองค์การ นักบริหารมืออาชีพต้องสร้างความเข้าในความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงและพยายามมองข้อดีของการเปลี่ยนแปลง โดยไม่วิเคราะห์วิจารณ์ในขณะที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง แต่จะช่วยดูแลและประเมินผลเพื่อการพัฒนาและให้คำปรึกษาหารือ ผู้บริหารมืออาชีพจึงมักตระหนักถึงคุณค่าในการพัฒนาตนเองเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเติมเต็มในความสามารถของตนเพื่อให้ก้าวทันกับเหตุการณ์ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นฐานนำไปสู่ การพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้เท่าทันกับโลกทั้งภายในและภายนอกองค์การ รู้ทันข้อมูลสารสนเทศและสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่องค์การ มนุษย์มีความสามารถในการพัฒนาตนเองได้อย่างไม่หยุดนิ่ง การพัฒนาตนเองจะทำให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการทำงาน

ประการที่แปด ความเก่งกล้าในความยืดหยุ่น ความยืดหยุ่นของนักบริหารมืออาชีพคือการไม่ยืดติดกับสิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์มากจนเกินความจำเป็น เพราะต้องเข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดที่ถูกต้องและผิดเสมอไปในทุกโอกาส ความยืดหยุ่นไม่ใช่ความลังเลหรือความไม่แน่นอนในหลักการ แต่เป็นการเลื่อนไหลที่ทำให้การทำงานมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ในด้านความคิดที่ยืดหยุ่นจะทำให้นักบริหารมืออาชีพไม่ปิดกั้นตนเองเนื่องจากมีความเชื่อว่าทุกอย่างมีความเป็นไปได้ และความเป็นไปได้เป็นโอกาสที่ดีเสมอ การปฏิบัติงานที่ตายตัวไม่ได้ทำให้งานสำเร็จรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเสมอไป

ประการที่เก้า ความเก่งกล้าในการบริหารเสน่ห์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษของนักบริหารมืออาชีพด้วยการเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือและความไว้วางใจจากองค์การให้บริหารงาน การทำให้ทุกคนที่ทำงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายและมีความสุขในการทำงานคือการบริหารเสน่ห์ นักบริหารมืออาชีพจะไม่กังวลและไม่เสียเวลาและสมองที่จะทุ่มเทให้แก่การทำงานมาบริหารเสน่ห์ตนเองเพียงเพื่อเอาใจผู้อื่นให้ชอบพอตนเอง และหวังผลประโยชน์จากเสน่ห์ของตนเอง การมุ่งมั่นในงานโดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตนเป็นเสน่ห์ที่อย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันทำงาน แต่อย่างไรก็ตามมักบริหารมืออาชีพตระหนักดีว่า ผู้ซึ่งต้องดูแลให้งานสำเร็จเรียบร้อยทันตามกำหนดตามเป้าหมายและงบประมาณย่อมไม่สามารถทำตามใจทุกคนได้ การถูกวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปของการทำงาน

ประการที่สิบ ความเก่งกล้าในเรื่องมนุษยธรรมกับการทำงาน โลกของธุรกิจทุกประเภทต้องสร้างผลกำไร ธุรกิจการศึกษาก็เช่นกัน แต่กำไรที่พึงได้จากธุรกิจการศึกษาไม่เช่นเป็นแค่เงินตรา แต่ต้องเป็นประสิทธิภาพของผลผลิตที่เป็นผู้เรียนซึ่งเป็นคน  มนุษยธรรมในการถ่ายทอดวิชาความรู้การอบรมสั่งสอนและการมีความเมตตา สงสารและให้ความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ตามจุดประสงค์ของการศึกษาส่วนหนึ่งและความเป็นธรรมในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนอีกส่วนหนึ่ง ต่างต้องการความเป็นธรรมในการดำเนินกิจกรรมด้วย

ในทางกลับกัน ชมพูนุช อัครเศรณี (2547) กล่าวถึงผู้ที่ไม่ใช่มืออาชีพว่าเป็นผู้ที่ลักษณะของการแสดงพฤติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่อ่อนด้อย ดังนี้

ไม่มีบุคลิกลักษณะของความน่าเชื่อถือ

ไม่มีจุดยืน ไม่มีความมุ่งมั่น

ปราศจากภาพรวม วิสัยทัศน์ ปณิธานและแนวทางในการทำงาน

ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องงานได้เมื่อถึงเวลาและไม่สามารถคิดหาทางออกได้เมื่อในสถานการณ์ที่ต้องการการคิดและการตัดสินใจอย่างเฉียบขาด

ทำงานอย่างขอไปที ไม่ตั้งใจและไม่ใส่ใจในการทำงาน

ลองดี ยั่วยุ ท้าทายหรือกลั่นแกล้งเพื่อน เจ้านายและลูกน้อง

พูดในเชิงลบเสมอ  ให้ร้าย ใส่ความผู้อื่น

คำนึงถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าเรื่องหลักเกณฑ์และงาน

ยอมให้อารมณ์และความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผลทั้งในการตัดสินในและในการลงมือปฏิบัติงาน

ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเองแต่มักมีข้ออ้าง ข้อแก้ตัวและจะไม่สามารถแก้ไขความผิดพลาดได้

มองว่าผู้อื่นได้ค่าตอบแทนมากกว่าตน โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงด้านความสามารถในการทำงานตนเองและผู้อื่น

สนับสนุนลูกน้องและผู้อ่อนอาวุโสในทางที่เป็นผลเสียต่อองค์การ

แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวให้คนอยากเป็นมืออาชีพได้ทำตามแต่มืออาชีพก็ได้วางนิยามและแนวทางเลือกนามธรรมไว้ให้แล้ว องค์ประกอบของการเป็นมืออาชีพโดยทั่วไปสำหรับองค์การมีหลายประการและมีความหลากหลายตามบริบทความเชื่อซึ่งเกิดจากผลการทดลองเชิงวิจัยและการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (ชมพูนุช อัครเศรณี, 2547)

 

สรุป

โดยสรุปแล้วพฤติกรรมนักบริหารมืออาชีพย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะเฉพาะที่จำเป็นในการบริหารในระดับที่สูง คุณลักษณะเหล่านี้จะถูกบ่มเพาะด้วยประสบการณ์ส่วนหนึ่งและต้องได้รับการลับให้คนด้วยการฝึกฝนและพัฒนาตนเองเพื่อการเข้าสู่การเป็นนักบริหารที่แท้จริงอีกส่วนหนึ่ง ลักษณะนิสัยของบุคคลบางประการอาจเป็นตัวบ่อนทำลายประสิทธิภาพของการทำงานของบุคลากรและนำความเสียหายในด้านผลประกอบการของหน่วยงานด้วย ดังนั้นการเป็นนักบริหารมืออาชีพจึงต้องมีการตระหนักรู้ในบริบทของการเป็นนักบริหารและพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันเหตุการณ์อยู่เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง

Hoy, W., and Miskel, C. (1991). Educational Administration. New York: McGraw-Hill.

Wood, J., Wallace, J., and Zaffane, R. (2001). Organizational Behavior: A Global Prospective. Brisbane: Jon Wiley & Sons Australia.

จันทนา สุขุมานันท์ (2 ตค. 2548) แมกไม้บริหาร : การบริหารองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยภาวะผู้นำ.  UBC (11.30 PM, 2 ตค. 2548).

จำลอง นักฟ้อน. (2548). เส้นทางสู่นักบริหารการศึกษามืออาชีพhttp://www.moe.go.th/wijai/road%20map.htm  (26 ตค 2548).11  

ชมพูนุช อัครเศรณี. (2547). ทำงานแบบไหนถึงจะเป็นมืออาชีพ ? ELLE Thailand แอล.  กรุงเทพมหานคร : ศิริวัฒนาอินเตอร์พรินท์ พฤศจิกายน 2547 หน้า 244-248 .

© Copyright 2006. All rights reserved. Contact: supattapin@yahoo.com