สุขจิตวิทยา
บทที่
11
การส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต
ความเจ็บไข้ได้ป่วยของบุคคลมักเกิดจากปัญหาด้านพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่บุคคลทำเป็นประจำซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเครียดและพฤติกรรมที่เกิดจากความเครียด
ที่มีแนวโน้มทำให้เกิดโรคต่าง ๆ หลายชนิด
การพัฒนาการและสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยจะทำให้สามารถป้องกันโรคต่าง
ๆ
ได้และในขณะเดียวกันการหันมาสนใจที่เปลี่ยนวิถีทางของการดำเนินชีวิตโดยปรับพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมก็จะเป็นแนวทางในการสร้างสุขวิทยาจิตที่มีผลทำให้มีชีวิตที่เป็นปกติยืนยาวได้
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่จะต้องมีการฝึกปฏิบัติเพราะลักษณะนิสัยบางประการก็ยากแก่การแก้ไข
เนื่องจากได้มีการประพฤติปฏิบัติทำให้เกิดความเคยชิน
ทุกคนจะต้องถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องพยายามทำให้ตนเองมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีและคงสภาพของความแข็งแรงไว้เสมอเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
แนวคิดในเรื่องสุขภาพและการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ชีวิตที่สมบูรณ์คือชีวิตที่มีคุณภาพ คำว่า
"คุณภาพชีวิต"
เป็นคำที่มีความหมายสำหรับผู้ที่ใฝ่หาความสุขในการดำเนินชีวิต แต่คำว่า
“คุณภาพ”
นั้นมีนัยของความหมายที่กว้างที่ไม่สามารถกำหนดลงไปได้อย่างชัดเจน
จึงควรที่จะนำมาอภิปรายเพื่อกำหนดขอบข่ายคุณภาพของชีวิตเพื่อไม่ให้บุคคลคิดไปเองว่าตนมีชีวิตที่มีคุณภาพแล้ว
หรือมีความประมาทว่าคุณภาพชีวิตนั้นเกิดขึ้นเองได้
การดูแลสุขภาพให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนเป็นพื้นฐานของการสร้างคุณภาพชีวิตในขั้นต้น
การกระตุ้นให้มองเห็นความสำคัญของการมีแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดี
และให้มีความระมัดระวังที่จะไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ
รวมทั้งการให้คำแนะนำและชี้ทางให้แก่ผู้ที่เสี่ยงต่อการมีสุขภาพที่ไม่ดี
การป้องกันพื้นฐานขั้นต้นจึงมุ่งไปสู่การค้นหาสาเหตุว่าทำไมบุคคลจึงมีพัฒนาการสุขลักษณะนิสัยที่ไม่ดีและทำอย่างไรจึงจะสามารถช่วยพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพที่ดีได้
องค์การอนามัยของประเทศออสเตรเลีย
(VicHealth Organisation,
Commonwealth Department of Health and Age Care, 1999)
กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมสุขวิทยาจิต
เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมว่ามีจุดมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาด้านสังคม
สิ่งแวดล้อม
ทางกายภาพและเศรษฐกิจที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพจิตของประชากร
และการให้การสนับสนุนปัจจัยด้านการป้องกันด้านสุขภาพจิต เช่น
การพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ การฟื้นฟู
สมรรถภาพและการปรับตัวให้บุคคลมีความเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อพัฒนาอารมณ์และสังคมที่ดี
การดำเนินงานมุ่งไปสู่ประชากรเป็นกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มย่อยที่เฉพาะเจาะจง
โดยมีการวัด ผลลัพธ์ในด้านการวางแผนองค์กรฝึกปฏิบัติ
องค์กรหน่วยสังคมและความรู้ในด้านสุขอนามัย
ปัจจัยกำหนดสุขวิทยาจิตและคุณภาพชีวิต ได้แก่
ปัจจัยส่วนบุคคล
เช่น การทำกิจกรรมส่วนตัว
ลักษณะนิสัย (habit)
การดำเนินชีวิตของบุคคล (life styles)
พฤติกรรมสุขอนามัย (health behaviors)
เป็นต้น
ปัจจัยส่วนบุคคลเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่จะสร้างคุณภาพชีวิต
ปัจจัยแวดล้อม
เช่น รายได้ สถานภาพทางสังคม การศึกษา การจ้างงานและสภาพ
การทำงานการได้รับสวัสดิการสุขภาพที่เหมาะสม และสิ่งแวดล้อมกายภาพ
ในประเทศไทยมีการส่งเสริมสุขภาพจิตและแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่มี
คุณภาพของประชาชนด้วยโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการทูบีนัมเบอร์วัน
(To be number one)
ซึ่งโครงการที่มีคุณค่าช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้เยาวชนหันมาออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อหลีกเลี่ยงยาเสพติดและยังมีโครงการในรูปแบบต่าง
ๆ ที่องค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดทำขึ้น เช่น
โครงการอบรมเยาวชนโครงการให้ความรู้พ่อแม่
และโครงการเผยแพร่ความรู้ของกรมสุขภาพจิต เป็นต้น
การสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีนั้นควรเริ่มต้นในช่วงวัยเด็ก และวัยรุ่น
ในช่วงของวัยที่ยังไม่มีโอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ เป็นการป้องกันไว้
ส่วนในช่วงวัยผู้ใหญ่นั้นการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยอาจจะทำให้เกิดได้ยากและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพทางด้านอื่น
ๆ เช่น ไม่สามารถออกกำลังด้วยการวิ่งได้เนื่องจากเป็นโรคเข่าเสื่อม
หรือโรคหัวใจ เป็นต้น
นอกจากนี้ความพยายามที่จะให้มีการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีนั้นค่อนข้างจะมีความยุ่งยากซับซ้อน
มีองค์ประกอบหลายประการที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพของบุคคล
ทั้งที่เป็นสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจ สังคม อารมณ์
ความคิดและสติปัญญา
ซึ่งเป็นตัวแปรทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
วิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
คนส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความเสี่ยงเนื่องจากไม่เคยสร้างหรือนำสุขลักษณะนิสัยที่ดีมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
และยังพบว่าเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนลักษณะนิสัยที่ไม่ดี เช่น
สุขลักษณะนิสัยที่ดีในการกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ
3
มื้อต่อวัน การเล่นกีฬา และการออกกำลังกาย
และการจัดสภาพที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น
พงศ์เกษตร สุวรรณกูล
(2533,
หน้า 57)
เขียนสรุปว่า นอร์แมน วินเซนต์ พีล
ให้ข้อคิดว่าบุคคลสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดีได้ด้วยการคิดดีกับตนเองและมองภาพตนเองในทางที่ดี
แนวทางที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาได้ คือ
ให้บุคคลนั้นเริ่มต้นด้วยการอธิษฐาน สร้างมโนภาพและทำให้เป็นจริง
ทั้งนี้เพราะการอธิษฐานจะเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาว่าต้องการจะทำการในสิ่งนั้น
ๆ จริง ๆ เป็นการบอกกับตนเองว่าต้องการอะไร
การอธิษฐานต้องลงมือทำอย่างจริงจังและหนักแน่น
ต้องวาดภาพว่าสิ่งที่ตนต้องการได้นั้นเมื่อได้มาแล้วจะมีภาพลักษณ์อย่างไร
สิ่งที่วาดฝันว่าจะได้มาคือผลลัพธ์ที่จะได้มานั่นเอง
ผลลัพธ์นั้นจะเป็นการย้ำให้รู้ว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจริงและเป็นไปได้
จากนั้นก็ให้มีความพยายามที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริงให้ได้
การวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสุขลักษณะนิสัย
ซึ่งอยู่รอบตัวบุคคลนั้นเพื่อเป็นการมองภาพรวมในบริบทของปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยแวดล้อม
1.
อิทธิพลส่วนบุคคล เป็นอิทธิพลที่มีพลังอย่างยิ่ง
บุคคลมีอิทธิพลต่อตนเองเป็นอย่างสูง จิตใจของคนนั้นไม่อาจจะบังคับได้โดยง่าย
จึงต้องมีการฝึกให้สามารถบังคับใจตนเอง รู้จักปล่อยวาง รู้จักคิดในสิ่งที่ดี
บุคคลที่มีความรู้สึกต่อต้านการเปลี่ยนลักษณะนิสัย
จะต่อต้านไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัยที่ดีหรือเลว
หรือแม้แต่ได้รับการชักจูงให้พยายามเลิกลักษณะนิสัยที่ไม่ดีนั้นเสียก็ยังรู้สึกว่าทำตามได้ยาก
ทั้งนี้เนื่องจากวีถีชีวิตเดิม เช่น กินมากเกินไป ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
มักจะทำให้บุคคลมีความสุขได้ในทันทีและวิถีชีวิตแบบใหม่ที่มีคุณภาพอาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกหรืออาจจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวมอยู่ด้วย
ดังเช่น การแก้ไขอาการติดเหล้า หรือการเลิกยาเสพติด
เพราะรางวัลที่ได้รับจากการเลิกพฤติกรรมเหล่านี้คือการมีสุขภาพดีซึ่งค่อนข้างที่จะมองไม่เห็นเพราะยังอยู่อีกไกลในอนาคตซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่าไม่คุ้มค่าที่จะพยายาม
ดังนั้นปัจจัยด้านส่วนบุคคลจึงต้องเกิดจากการฝึกให้บังคับตนเองให้ได้ด้วยการหยั่งเห็นคุณค่าของการมีวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ
บางครั้งการวางเงื่อนไขผลกรรมว่า
“ทำเพื่อคนที่คุณรัก”
จึงมีความสำคัญ
2.
อิทธิพลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องพบเห็นและอยู่ด้วยตลอดเวลา
การที่บุคลไม่สามารถที่จะพัฒนาพฤติกรรมสุขลักษณะนิสัยได้นั้นส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลทางด้านสังคม
เช่น
1)
เศรษฐกิจสังคม
เป็นปัจจัยแรกที่สำคัญเนื่องจากเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการ
รักษาร่างกาย
และเป็นแนวโน้มที่ป้องกันร่างกายให้ปลอดจากโรค ในกลุ่มคนชั้นกลาง เด็ก ๆ
ส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ มีการให้วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ
ตามตารางเวลาที่กำหนดทำให้ได้รับการคุ้มครอง ให้ปลอดภัยจากโรคบางประเภท
สำหรับเด็กที่อยู่ในสังคมที่มีรายได้ต่ำมักจะไม่ได้รับการดูแลในเรื่องนี้เท่าไรนัก
นอกจากนี้จะมีการให้บริการในบางโอกาส
2)
ค่านิยมทางวัฒนธรรม
เป็นปัจจัยทางด้านสังคมที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพของ
บุคคล ดังเช่น
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่
2
ซึ่งคนส่วนใหญ่จะนิยมการสูบบุหรี่โดยเฉพาะผู้หญิง การสูบบุหรี่เป็นการแสดงสถานภาพของสังคมชั้นสูง
ภายหลังจากค่านิยมเปลี่ยนไปก็ทำให้
การสูบบุหรี่ลดน้อยลง ได้บ้างแต่ก็ยังคงเป็นพฤติกรรมที่ปรากฏอยู่
และการศึกษาที่แสดงผลออกมาว่ามีผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ปอดเนื่องจากสูบหรี่จำนวนเพิ่มมากขึ้นก็อาจเป็นสาเหตุของ
การเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเช่นกัน
3.
อิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวมีความสำคัญต่อการสร้างสุขนิสัย
ลักษณะนิสัยของบุคคลเป็นผลเกิดจากการอบรมเลี้ยงดู
(socialization)
ดังเช่นการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวแบบอย่างของการดำเนินชีวิตของพ่อแม่
มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของลูกและทำให้เกิดสุขลักษณะนิสัยไปจนตลอดชีวิตไม่ว่าสุขลักษณะนิสัยนั้นจะเป็นสุขลักษณะที่ดีหรือไม่ก็ตาม
เมื่อพ่อแม่แสดงพฤติกรรมการกินเกินขนาด ดื่มสุราอย่างหนัก
ใช้ยากล่อมประสาทหรือสูบบุหรี่ พวกเด็ก ๆ
ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำตามแบบพฤติกรรมนั้นด้วย (Moos, Cronkite, &
Finney,1982, pp. 227 - 230)
การดูแลเอาใจใส่ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลได้ถ้าเริ่มต้นตั้งแต่วัยแรก
ๆ ของชีวิต
ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตของเด็กมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลเอาใจใส่ในด้านต่าง
ๆ ของพ่อแม่ต่อเด็ก เช่น
1)
การมีภาวะโภชนาการที่ดีในวัยเด็ก สภาพความสมบูรณ์ทางด้านร่างกายในวัยเจริญ
เติบโตนั้นปริมาณและคุณภาพของสารอาหารมีผลต่อการพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและ
จิตใจสารอาหารที่ได้รับในวัยเจริญเติบโต มีความสำคัญต่อพัฒนาการของบุคคลในทุก
ๆ ด้านการขาดสารอาหาร ทำให้บุคคลมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ไม่แข็งแรงทั้งยังทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำอีกด้วย
เด็กในวัยเจริญเติบโตต้องการสารอาหารเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกายให้เจริญเติบโต
โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสมองซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญา
เด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหารมักจะเสียชีวิตในช่วงวัยแรกของอายุ
และมักจะมีจำนวนเซลล์ของเนื้อสมองน้อยกว่าปกติ
การให้สารอาหารในภาวะที่ร่างกายผ่านขั้นของพัฒนาการนั้น ๆ
มาแล้วไม่อาจจะทดแทนได้
เนื่องจากการเจริญเติบโตในช่วงระยะเวลาของการพัฒนาการในขั้นนั้น ๆ
ได้ผ่านพ้นไปแล้วจึงไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้อีก
นอกจากนี้พัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ในขั้นต้น ๆ
ทั้งยังมีผลสืบเนื่องต่อไปทำให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ
ในขั้นต่อมาไม่สมบูรณ์อีกด้วย เช่น การพัฒนาการด้าน การเจริญเติบโตของร่างกาย
เป็นต้น เด็กที่มีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น
จะมีร่างกายที่ผอมเกร็งและแคระแกรนกว่าที่ควรจะเป็นการขาดสารอาหารที่จำเป็นต้องบริโภค
เพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกายถ้าเด็กเกิดอาการหิวโหยและรู้สึกว่าสิ่งที่ร่างกายต้องการไม่ได้รับ
การตอบสนองจะเกิดความทุกข์ทรมานจากความหิวซึ่งมีผลต่อสภาพทางจิตใจเป็นอย่างยิ่ง
2)
การขาดความรักและความอบอุ่นในวัยเด็ก การขาดความรักในวัยแรกเกิดเป็น
ต้นมาจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ผิดปกติได้ทั้งในด้านความคิด
อารมณ์ และความเชื่อมั่นในตนเองและสิ่งแวดล้อม
อาการขาดความรักเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกทอดทิ้ง
ซึ่งปกติจะพบเด็กเหล่านี้ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เด็กที่ขาดแม่ขาดพ่อ หรือ
คนที่จะคอยดูแลเอาใจใส่ให้สัมผัส
ที่นุ่มนวลและให้ความอบอุ่นทางใจ
สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กมีกำลังใจที่จะต่อสู่กับชีวิต
และมองเห็นคุณค่าของชีวิต สามารถให้ความสนิทสนมและมีความผูกพันกับผู้อื่นได้
การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมของเด็ก 1 ขวบ
ซึ่งได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงกับเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูปกติที่บ้าน
พบว่า
เด็กที่เลี้ยงในสถานรับเลี้ยงมีความบกพร่องในการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
โดยจะไม่มีการแสดงความสัมพันธ์กับผู้อื่น และจะไม่ค่อยพึ่งพาผู้ใหญ่
หรือขอความช่วยเหลือ จากผู้อื่น
เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายหรือ ความพึงพอใจ (Provence & Lipton, 1962
อ้างถึงใน มาโนช
สุขฤกษ์,
2525, หน้า 58)
เด็กที่ขาดความรักความอบอุ่นในวัยแรกเริ่มจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมทางด้าน
จิตประสาทหรือไม่นั้นมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่งเป็นการรายงานผลการศึกษาจาก
กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นจำนวน 38
คน อายุ 16
- 18
ปี ที่เคยได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงในช่วงอายุระหว่าง 3
สัปดาห์ ถึง 3 ปี จากจำนวนดังกล่าว
พบว่าเด็กเหล่านั้นได้กลายเป็นโรคจิต 4 คน
มีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ 21 คน ปัญญาอ่อน 4
คน เป็นโรคประสาท 2 คน มีเพียง
7 คนเท่านั้นที่มีพฤติกรรม
การปรับตัวอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
(Bores & Obers, 1950
อ้างถึงใน มาโนช สุขฤกษ์, 2525,
หน้า
58)
นอกจากนั้นยังพบว่าการขาดความรักและความเอาใจใส่เลี้ยงดูในวัยเด็กจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการในวัยต่อมา
ความมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาและช่วงของวัย
ที่เริ่มขาดความรักตลอดจนความเข้มและความต้องการที่จะได้รับความรักของเด็กและการได้รับการชดเชยความรักจากบุคคลอื่น
3)
ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บทางใจในวัยเด็กมักจะเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย
และรุนแรง
ทำให้เด็กเกิดความเจ็บปวดที่ฝังใจและเป็นผลให้ติดตรึงอยู่ในความคิดอยู่ตลอดเวลา
อาการบาดเจ็บทางจิตใจอาจเกิดจากการถูกปฏิเสธจากพ่อแม่อย่างรุนแรง
การได้รับการลงโทษที่รุนแรง และการทำทารุณกรรมต่าง ๆ
โดยเฉพาะการได้รับการทารุณกรรมและ
ล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและจดจำประสบการณ์ที่ร้ายแรงนี้ไว้ซึ่งกลายเป็นตราบาปที่ติดตัวเด็กไปจนตลอดชีวิตสิ่งต่าง
ๆ
เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การปลูกฝัง
ค่านิยมและเจตคติที่ไม่พึงประสงค์ให้แก่บุคคลนั้น
บุคคลที่มีอาการบาดเจ็บทางจิตใจจนเกิดเป็นรอยแผลในใจมีผลทำให้เด็กเกิดความหวาดกลัว
มีพฤติกรรมที่สับสน ไม่มีความแน่ใจในความเป็นบุคคลของตนเอง
ขาดความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง
มีความหวาดระแวงสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะทำลายเมื่อมีโอกาส ความผิดปกติ
ทางใจที่เป็นผลให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่าง ๆ นี้
เมื่อได้ทำการศึกษาจะพบว่าบุคคลนั้นได้เคย
มีประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตมาแล้วทั้งสิ้น
4)
สัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัวมีผลกระทบทางด้านจิตใจต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
เพียงแต่ว่าบุคคลในครอบครัวจะโต้ตอบกับปัญหาที่แต่ละคนเผชิญอย่างไรเท่านั้น
(1)
สัมพันธภาพระหว่างพ่อกับแม่
สัมพันธภาพอันดีระหว่างพ่อและแม่
ความรักใคร่ปองดองกันจะทำให้ครอบครัวมีความสุข
ภาพที่ 11.1
ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข
ที่มา
:
การ์ตูนขายหัวเราะ, 2539,
หน้า
48
พ่อและแม่เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในครอบครัวดังนั้นความสุขของสมาชิกในครอบครัวส่วนหนึ่งจะมาจากความรักใคร่ปองดองกัน
ความรักความอบอุ่นและจะถ่ายทอดมายังสมาชิกของครอบครัวคือลูกอีกต่อหนึ่งด้วย
แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นที่ทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวนั้นไม่ดี
ส่วนใหญ่มักจะมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้าน
ความรับผิดชอบในฐานะสามีภรรยาและการไม่ลงรอยกันทางด้านการตัดสินใจและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
(2)
สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับลูก
ปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่าง
พ่อแม่และลูกเป็นปัญหาที่มักจะพบเห็นกันอยู่ตลอดเวลา
และเป็นปัญหาที่วิกฤติมากเพราะเป็นปัญหาที่โยงไปสู่ปัญหาอื่น ๆ
อีก การรู้จักแนวทางในการแก้ปัญหาย่อมทำให้เกิดความราบรื่นและผ่อนปรนความขัดแย้งลงได้
ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และลูกมักเกิดจากการไม่ยอมรับความคิดหรือความเป็นจริงในตัวลูก
เช่น ไม่ยอมรับความคิดเห็น ไม่ยอมรับสภาพของลูกในด้านสติปัญญา
ในด้านความพิการทางกายหรือแม้แต่ในด้านเพศของลูก
ความไม่ลงรอยกันจนเกิดเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงเหล่านี้มักจะทำให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้นในครอบครัวและทำให้เกิดความเครียดเนื่องจากเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อื่น
ๆ อีกตามมา
(3)
สัมพันธภาพระหว่างพี่กับน้อง
ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของเด็กอาจ
เกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปรียบเทียบความรักความเอาใจใส่และความยุติธรรมของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
ๆ
เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ให้ความรักและความเอาใจใส่ต่อตนน้อยกว่าพี่หรือน้องก็จะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ
เด็กในบางวัยอาจจะขาดเหตุผลโดยเฉพาะในวัยเด็กเล็กเมื่อแม่มีลูกคนใหม่ซึ่งทำให้ตนรู้สึกว่าลดความสำคัญลงไป
เด็กจะเกิดความเครียดโดยแสดงความก้าวร้าวออกมาให้เห็นซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้จะคงอยู่ในใจของลูกตลอดไปถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี
5)
พฤติกรรมการอบรบเลี้ยงดูของพ่อแม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการในทุกด้านของลูก
ลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูนี้ไม่มีสูตรสำเร็จจึงไม่สามารถจะบอกได้ว่าความพอเหมาะและพอดีอยู่ที่ตรงไหน
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นพ่อแม่จะต้องมีสามัญสำนึกที่ดี
ลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูที่จะนำ ไปสู่ปัญหา ได้แก่
(1)
การเลี้ยงดูแบบปกป้องเกินไป
เป็นการแสดงความรักและเอาใจใส่ที่เกิน
ขอบเขตโดยให้ความรักและต้องการที่จะให้ลูกได้รับแต่สิ่งที่ดีไม่ต้องการให้มีอันตรายใด
ๆ มาถึงตัวลูก
ในบางครอบครัวจึงอุทิศเวลาให้แก่ลูกทั้งหมดด้วยการเฝ้าคอยดูแลและปกป้องมากเกินไปจนกระทั่งเด็กไม่มีโอกาสที่จะช่วยเหลือตนเอง
เด็กบางคนที่ยอมทำตามอย่างไม่มีเงื่อนไขและเห็นว่าเป็นสิ่งที่สะดวกสบายดีก็จะเคยชินทำให้ขาดทักษะในการดำเนินชีวิต
และมักแสดงพฤติกรรมเป็นเด็กที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาอาจกลายเป็นคนขาดความคิดและไม่กล้าตัดสินใจ
แต่ก็พบว่าเด็กบางคนรู้สึกอึดอัดเพราะขาดอิสระที่จะดำเนินชีวิตด้วยตนเองก็อาจมีผลทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจนเป็นเรื่องราวที่น่าสะเทือนใจทั้งสองฝ่าย
(2)
การเลี้ยงดูแบบปล่อยตามใจไม่ดูแลลูกอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจเป็นไปได้
2
กรณี คือ กรณีแรก ปล่อยปละไม่เอาใจใส่
หรือละทิ้งไปโดยไม่ใส่ใจ และในกรณีหลัง คือ สิ่งของและเงินทอง
การใช้เป็นวัตถุสิ่งของทดแทนการตอบสนองความต้องการ และทดแทนการแสดงความรัก
ความเอาใจใส่ดูแล ทั้งสองกรณีนี้ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัยขั้นพื้นฐานทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าสำหรับพ่อแม่
เกิดความอ้างว้างเดียวดายซึ่งทำให้เกิดความเครียด
3.
อิทธิพลของบุคลิกภาพและอารมณ์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างลักษณะ
นิสัย
แม้จะมีข้อพิสูจน์ว่าแบบแผนทางบุคลิกภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บุคคลมีลักษณะนิสัยที่เป็นไปตามแบบฉบับของบุคลิกภาพนั้น
โรดิน (Rodin,
1981, p. 561) กล่าวว่า
จากการศึกษายัง
ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับสุขลักษณะนิสัยของบุคคลโดยตรง
แต่สภาพทางอารมณ์มีผลต่อสุขภาพกายและจิตอย่างแน่นอน
ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง
ๆ ได้ เช่น การกินจนเกินขนาด เนื่องจากบางคนใช้การกินเป็นการแก้ความเหงาหรือการอดอาหารเกิดความเบื่อหน่าย
เรียนก็หันไปเที่ยวเตร่เฮฮาหรือสูบบุหรี่หรือหันไปหายาเสพติดก็เป็นพฤติกรรมที่เกิดเนื่องจากอารมณ์ทั้งสิ้น
เพราะพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อได้ปฏิบัติแล้วเป็นการระบายอารมณ์ได้เป็นอย่างดีในส่วนของตน
แต่ก็จะกลับกลายมาเป็นสุขลักษณะนิสัยที่ไม่ดีในเวลาต่อมาหรืออาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
4)
อิทธิพลของความคิดความเข้าใจซึ่งความคิด
ความเชื่อและเจตคติมีผลอย่างมากในการสร้างลักษณะนิสัยที่เป็นสุขลักษณะนิสัยที่ดีและสุขลักษณะนิสัยที่ไม่ดี
จากการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบของความเชื่อในเรื่องสุขภาพพบว่า
การปฏิบัติต่อสุขภาพที่ดีขึ้นอยู่กับความเชื่อว่าเมื่อกระทำแล้วจะสามารถปกป้องร่างกายจากการเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้
ดังนั้นไม่ว่าบุคคลจะได้รับการเกลี้ยกล่อมหรือชักจูงให้เชื่ออย่างไร
ถ้าไม่มีความเชื่อเป็นพื้นฐานแล้วก็จะไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปฏิบัติตนให้มีสุขลักษณะนิสัยที่ดีได้
คนส่วนใหญ่มักไม่เชื่อว่าตนเองจะเกิดการเจ็บป่วยได้จึงมองไม่เห็นเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวยิ่งมีความเชื่ออย่างหลงผิด
โดยไม่คิดว่าวันหนึ่งร่างกายจะเสื่อมโทรมหรือเชื่ออย่างผิด ๆ ว่า
การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถกลับมาทำร้ายตนได้เมื่อวัยสูงขึ้น
การที่มีความเชื่อว่าโรคหัวใจ โรคมะเร็งและโรคเบาหวาน
เป็นโรคของคนแก่หรือคนที่อ่อนแอเท่านั้นจึงทำให้คนที่ไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อนและเชื่อว่าตนเองมีความแข็งแกร่งมีความต้านทานต่อโรคเพียงพอไม่ระวังรักษาร่างกายให้ดีเพียงพอ
หรือไม่ก็คิดว่าถ้ามีโรคเกิดขึ้น แพทย์ก็คงจะสามารถรักษาได้
รูปแบบของความเชื่อเรื่องการมีสุขภาพที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตจะเป็นตัวทำนายได้ว่าทำไมบางคนจึงมีความยากลำบากที่จะพัฒนาสุขลักษณะนิสัย
เช่น พบว่าบุคคลที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
จึงจะมีความระวังหรือมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องของโรคนี้
แต่ก็อาจจะไม่ยอมลดน้ำหนักหรือทำการควบคุมอาการ
เพราะไม่เชื่อว่าจะทำให้การเสี่ยงน้อยลงได้ ดังนั้นจึงพบว่า
การให้ความรู้ในเรื่องโรคเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ผลในขั้นต้น
จึงต้องมีการสร้างจิตสำนึกต่อการสร้างคุณภาพชีวิต
การจัดทำโครงการพัฒนาสุขลักษณะนิสัยที่ดี
ในการพัฒนาสุขลักษณะนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น
จากการศึกษาพบว่าการที่จะทำให้บุคคลเกิดการระวังตนในเรื่องของสุขภาพ
เพื่อการป้องกันการเจ็บป่วยนั้น แนวทางหนึ่งที่ทำได้คือ
การรณรงค์ชักชวนและจูงใจให้เกิดความต้องการที่จะพัฒนาสุขลักษณะนิสัยขึ้นการรณรงค์ที่มีประสิทธิภาพจะต้องควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษา
และแนะแนวทางในการปฏิบัติทางจิตวิทยาเพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่า
ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเจตคติ
เปลี่ยนพฤติกรรมและเปลี่ยนวิถีทางของการดำเนินชีวิตในที่สุด
การใช้หลักการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควรจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของผู้ดำเนินการที่มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนนิสัยโดยตรงหรืออาจจะมุ่งไปที่การสร้างความตระหนักรู้และสร้างความคิดให้เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการแทรกซ้อนของผู้ให้การบำบัด
เช่น การเลิกเสพสิ่งเสพติด เป็นต้น
แนวคิดในการจัดทำโครงการหลักเพื่อพัฒนาสุขลักษณะนิสัยในรูปแบบต่าง ๆ
นี้สามารถนำความรู้ไปสู่กลุ่มประชากรได้มีรูปแบบที่หลากหลาย
ซึ่งมีข้อเสนอแนะในการจัดทำโครงการ เช่น
1.
โครงการรณรงค์ด้วยการใช้สื่อ เป็นการรณรงค์ด้วยการสื่อสารให้ข้อมูลเป็นการรณรงค์ที่มีการกระทำกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
ประกอบกับเทคนิคและวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจและจูงใจให้รับข้อมูลก็มีส่วนทำให้การรณรงค์ในรูปแบบนี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
การให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเสี่ยงของบุคคลในด้านสุขภาพนั้นได้กระทำโดยผ่านสื่อต่าง
ๆ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ แผ่นพับ แผ่นปลิว ป้ายโฆษณา
เหล่านี้เป็นการกระจายข้อมูลและข่าวสารไปในวงกว้าง
เป็นการสุ่มให้ผู้ที่มีสื่ออยู่ในมือได้มีโอกาสได้รับข้อมูลนั้น
การรณรงค์จะต้องกระทำอยู่เสมอด้วยการใช้รูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกอยู่เสมอ
นอกจากนี้ข้อมูลที่ให้แก่ประชาชนทั่วไปควรจะมีข้อมูลที่ชี้แนะ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีด้วย
จากการรณรงค์ในเรื่องของการสูบบุหรี่และโทษของการสูบบุหรี่มาเป็นเวลากว่า
30 ปี
ก็ทำให้ในปัจจุบันมีจำนวนของผู้สูบบุหรี่ลดลงเป็นจำนวนมากและมีผู้ที่ต้องการจะหยุดสูบ
แต่ไม่มีการยืนยันว่าการรณรงค์มีผลทำให้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมมากน้อยเพียงใด
สิ่งหนึ่งที่ทำให้การรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ผลมากนักเกิดจากการที่ยังมีการโฆษณายี่ห้อบุหรี่ที่เป็นตัวเสริมแรงที่ทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาอีก
การใช้สื่อจะเป็นการรณรงค์มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นการจัดทำรายการเพื่อรณรงค์
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละขั้นตอนอาจจะทำให้การรณรงค์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดังเช่น
รายการที่เกิดขึ้นในอเมริกาเพื่อรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ได้จัดทำขึ้นโดยนักจิตวิทยาให้แก่ผู้เข้าชม
ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้การปรับพฤติกรรมและเสริมสร้างสุขลักษณะนิสัยซึ่งพบว่า
มีผู้สนใจในรายการนี้เป็นจำนวนมาก
จะพบว่าการใช้สื่อเพื่อการณรงค์จะมีความหมายมากถ้าได้นำไปควบคู่กับการชี้แนะแนวทาง
และการให้ความช่วยเหลือโดยตรง จากการศึกษาพบว่า
เมื่อมีความรู้ในด้านข้อมูลแล้วการดำเนินการในขั้นต่อไปจึงมีความสำคัญเพราะเป็นการตอบคำถามว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป
บางคนต้องการที่จะปรับพฤติกรรมแต่ก็ไม่รู้วิธีการและขั้นตอนใน
การปฏิบัติโดยเฉพาะในกรณีการเลิกสูบบุหรี่หรือเลิกยาเสพติดนั้น
เมื่อเลิกโดยไม่มีการบำบัดและรักษาควบคู่ไปด้วยก็อาจจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ในการรณรงค์เพื่อการป้องกันเชื้อไวรัสเอดส์
(AIDS-HIV)
ซึ่งเป็นโรคที่มีการระบาดอยู่ในปัจจุบัน
และเนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อได้ทางเลือด
ซึ่งการให้ข้อมูลเป็นการให้เลิกกระทำพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงนั้น มนุษย์มีสัญชาตญาณการสืบพันธุ์
การห้ามไม่ให้มีพฤติกรรมทางเพศจึงเป็นไปไม่ได้
ประกอบกับการที่มนุษย์เกิดการเรียนรู้ถึงความสุขและพอใจจากการได้เสพจึงทำให้เกิดความต้องการ
ดังนั้นการรณรงค์จึงมุ่งไปที่การปรับพฤติกรรมไม่ใช่เป็นการห้ามการทำพฤติกรรม
แต่อย่างไรก็ตามการรณรงค์ทางสื่อก็ไม่ได้ประกันได้ว่าเมื่อได้ให้ความรู้แก่บุคคลแล้วบุคคลจะเกิดความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ดังนั้นการใช้สื่อจึงต้องมีความรัดกุม
ไม่ส่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ตามมา
2.
โครงการรณรงค์ในสถานที่ทำงานและในโรงเรียน เนื่องจากสถานที่ทำงานและโรงเรียนเป็นสถานที่มีบุคคลอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากซึ่งทำให้การรณรงค์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพได้หลายรูปแบบเพราะหน่วยงานและโรงเรียนเป็นสถานที่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
และเสนอคำแนะนำซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
การกระตุ้นให้หน่วยงานและโรงเรียนได้มีโครงการจัดการรณรงค์ในเรื่องของการเสริมสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีนั้นช่วยให้เกิดความสนใจได้ในโรคต่าง
ๆ ที่เกิดมาจากสุขลักษณะนิสัยที่ไม่ดีนั้นมีมากมาย เช่น
โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ความดันสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
โดยเฉพาะในวัยการทำงานซึ่งบุคคลมักจะอุทิศเวลาเพื่องานจนลืมนึกถึงสุขภาพของตนเอง
โรคเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นแก่บุคคลได้โดยไม่รู้ตัว
การจัดทำโครงการจะช่วยให้พนักงานรู้จักระวังตนเพิ่มขึ้น
ในกิจกรรมของโรงเรียนก็สามารถนำโครงการการสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่นักเรียนนักศึกษาและบุคลากรของโรงเรียนได้เช่นกัน
เช่น การป้องกันการใช้ยาเสพติดให้โทษ
การป้องกันการตั้งครรภ์ในระหว่างเรียน การป้องกันโรคเอดส์ฯลฯ ในบางโรงเรียนก็จะมีการจัดให้
นักจิตวิทยาได้เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการที่จะเป็นการเสี่ยงต่อการเป็นโรคภัย
เช่นการให้ดูภาพยนตร์ และมีการอภิปราย
เพื่อว่าเมื่อเข้าไปพบสถานการณ์ที่เสี่ยงจะได้มีความคิดที่จะต่อด้านจิตใจของตนเองได้
นอกจากนี้ในโรงเรียนควรจัดตั้งโครงการสุขภาพจิตเพื่อการศึกษา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางด้านการเรียนและการดำเนินชีวิตในการเป็นนักเรียนด้วยการช่วยให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นสุขลักษณะนิสัยที่ดี
3.
โครงการรณรงค์ในชุมชน
โดยจัดทำเป็นกลุ่มชุมชนในสังคมขนาดย่อมที่มีบุคคลเข้ามาอยู่ร่วมกัน
แตกต่างเพศ แตกต่างวัย แตกต่างการศึกษา แตกต่างความเชื่อค่านิยมและเจตคติ ฯลฯ
โครงการรณรงค์ในชุมชนจะได้ผลดีถ้าได้สร้างความเข้าใจในเบื้องต้นถึงความสำคัญของวิถีทางในการดำเนินชีวิตที่ดีและมีคุณค่า
ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือกันของคนในชุมชนที่มีความแตกต่างกัน
ช่วยกันประสานความคิดและดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในชุมชนจะต้องพยายามสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการอยู่ร่วมกัน
ในการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกันและในการช่วยกันเสริมสร้างชีวิตที่มีคุณภาพร่วมกันด้วย
4.
โครงการปรับเปลี่ยนสังคมใหม่เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ
โครงการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโครงการเสนอแนะที่ควรมีการจัดตั้งขึ้นในชุมชนเพื่อการรณรงค์ในเรื่องของสุขภาพนั้น
เป็นการมุ่งจุดสนใจอยู่ที่ตัวบุคคล
โดยมีสัญญาประชาคมว่าเมื่อบุคคลสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีได้แล้วก็จะสามารถอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสิ่งแวดล้อมนั้น
อย่างไรก็ตามวิธีการที่ช่วยทำให้เกิดสุขลักษณะนิสัยที่ดีได้นั้นก็คือการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทางสังคมซึ่งแม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันเป็นอย่างมาก
เพราะการเปลี่ยนจะมีผลกระทบต่อสังคมทั้งหมด
การเปลี่ยนสังคมอาจจะกระทำได้โดยตรงกับตัวบุคคลหรือด้วยการเปลี่ยนกฎหมาย
หรือด้วยการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้บุคคลเปลี่ยนพฤติกรรมอาจมีความจำเป็นดังเช่นในกรณีที่ต้องมีกฎหมายลดความเร็วในการขับรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นโดยส่วนรวม
การให้เลิกสูบบุหรี่ในรถยนต์หรือในเครื่องบิน
ซึ่งเมื่อมีกฎหมายเกิดขึ้นบุคคลก็จะกระทำตามกฎหมายนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ
แนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อคุณภาพชีวิต
ความเสื่อมและความเจริญของประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชากร
ดังนั้นมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ
ผู้บริหารประเทศจะต้องใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อสร้าง
คุณภาพชีวิตให้แก่พลเมืองของประเทศเพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาสังคมไทยปัจจุบันและใช้หลัก
ในการประเมินและติดตามผลว่าได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตไปเพียงไรแล้วและยังมีอะไรที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนอีกบ้าง
1.
หลักของการที่จะทำชีวิตให้มีคุณภาพนั้นมีหลักใหญ่ ๆ
ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการสร้างคุณภาพชีวิตให้เกิดขึ้นได้ องค์การอนามัยโลก
(WHO, 1998)
กล่าวว่า
การมีสุขภาพดีเกี่ยวข้องกับการปรับลดความล้มเหลวในระดับการศึกษา
จำนวนงานที่ไม่ปลอดภัย และค่าความต่างของรายได้ในสังคม
กรอบการส่งเสริมให้เกิดสุขภาพจิต 3
ด้าน คือ
ด้านแรก คือ
ความเชื่อมโยงทางสังคม ได้แก่ การให้การสนับสนุนความสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมทางด้านสังคมและด้านกายภาพ
จัดเครือข่ายสังคมให้คุณค่ากับตำแหน่งทางสังคม
ด้านที่สอง คือ
ความอิสระจากการแบ่งแยกและการใช้ความรุนแรง ได้แก่ ความปลอดภัยทางกายภาพ
การตัดสินใจด้วยตนเองและการควบคุมชีวิตตนเอง
ด้านที่สาม คือ
การมีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจ งานอาชีพและการศึกษา ที่อยู่อาศัย และค่าครองชีพ
จากข้อมูลต่าง ๆ มากมายพบว่า
บุคคลจะมีความรู้สึกปลอดภัยถ้าได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ภาพของตนเองในด้านเศรษฐกิจและสังคม
(Wilkinson,
1997 ; Wilkinson & Marmot 1998 ; World Bank Poverty
net: Social Capital for Development, 1998)
2.
หลักในการดำเนินชีวิตในบริบทของท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทย
ซึ่งมีการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ
พระธรรมปิฎก (2530)
กล่าวสนับสนุนว่าการดำเนินชีวิตที่ดีเป็นพื้นฐานของคุณภาพชีวิตว่ามีปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพแนวทางต่าง
ๆ เช่น อาหาร อากาศ การออกกำลังกาย และ การทำจิตใจให้สงบ เป็นต้น
ในแนวคิดนี้สอดคล้องกับการมีชีวิตที่กินดี อยู่ดี มีความสุข
นักคุณภาพชีวิตได้นำเสนอข้อคิดเป็นแนวทางที่หลากหลาย
จึงขอนำประเด็นที่สำคัญมาสรุปเพื่อปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันดังนี้
1)
อาหาร การได้กินและกินเป็น คือได้อาหารที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติใน
การสร้างและซ่อมแซมร่างกาย ป้องกันและต้านทานโรค ช่วยให้ระบบต่าง ๆ
ในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ และให้พลังงาน
การเลือกสิ่งที่บริโภคเข้าไปในร่างกายจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต
ทารกในครรภ์มีชีวิตและเติบโตได้ด้วยอาหารจากมารดาที่ส่งให้ทางสายรก
อาหารไปสร้างเซลล์ในสมองและเนื้อเยื่อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ผลของการวิจัยทางโภชนาการมีว่า
เมื่อเด็กอายุได้
3 ขวบ สมองเจริญเติบโตไปแล้วถึงร้อยละ 80
ร่างกายเจริญเติบโต ร้อยละ 20
ดังนั้นอาหารที่หญิงมีครรภ์มีความสำคัญมากต่อสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตทารกในครรภ์
การกินดี คือ
การกินที่ถูกสุขลักษณะ กินอาหารที่มีคุณภาพ
สะอาดปลอดภัยตามเกณฑ์สุขอนามัยและการกินเป็น คือ
ต้องกินให้ได้สารอาหารอย่างครบถ้วนทั้ง
5
หมู่ คือ แป้ง
คาร์โบไฮเดรด โปรตีน ไขมัน
เกลือแร่และวิตามิน ในส่วนสัดที่ถูกต้องและพอเพียง
ทารกและเด็กที่ยังเล็กอยู่และที่กำลังเติบโตมีความต้องการอาหารมาสร้างร่างกายเป็นสองเท่าของผู้ใหญ่จึงจะพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย
และคนทำงานที่ใช้แรงงานกับคนทำงานที่ใช้ความคิดย่อมต้องการสารอาหารที่ให้พลังงานแตกต่างกัน
ผู้ที่กินเป็นจะสามารถแสวงหาอาหารที่สามารถป้องกันและรักษาโรคได้ด้วย อาร์ลีน
ฟิชเชอร์
(Arlene Fischer, 1991 อ้างถึงใน อินทิรา ปัทมินทร,
2536, หน้า 21 - 22) กล่าวว่า
การรักษาโรคที่ดีที่สุดคือการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา
เพราะในกรณีของผู้ป่วยบางคนเพียงแค่ได้รับประทานอาหารที่ถูกต้อง
ในปริมาณที่เหมาะสมจะมีผลดีพอที่จะรักษาโรคให้หายได้
และพบว่าดีกว่าการใช้ยาในแง่ที่ว่าการใช้ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้
ในเรื่องอาหารกับสุขภาพจิตนี้แม้ว่าอาหารจะไม่ได้เป็นตัวรักษาโรคทางจิตโดยตรง
แต่อาหารก็มีประโยชน์ใน
การรักษาโรคทางกายที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพจิต
เช่น โรคความเครียด ความวิตกกังวลกลุ้มใจในปัญหาใด
ปัญหาหนึ่งมาเป็นเวลานานซึ่งผลก็คือมักจะทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียวหรือโรคไมเกรน
โรคระบบทางเดินอาหาร มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีกรดและลมในกระเพาะอาหาร
โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
จากการศึกษาสาเหตุของอาการปวดหัวข้างเดียวไม่ว่าจะปวดข้างซ้ายหรือข้างขวาพบว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากสารเคมีในอาหาร
เพราะสารเคมีบางตัวอาจทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัวหรือขยายจนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
สารเคมีเหล่านี้จะอยู่ในอาหารบางชนิด เช่น ไวน์แดง ตับ อาหารหมักดอง ชอกโกเล็ต
แฮม เบคอน รวมทั้งผงชูรส
(Arlene Fischer, 1991 อ้างถึงใน อินทิรา
ปัทมินทร, 2536)
นอกจากนี้แพทย์ยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า แม้ว่ากาแฟจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไมเกรน
บรรเทาอาการปวดศีรษะลงได้
แต่การงดหรือเลิกดื่มกาแฟกะทันหันสำหรับคนที่ติดกาแฟจะเป็นอันตราย
เพราะจะทำให้คาเฟอีนในเลือดต่ำลง
เส้นโลหิตจะเริ่มขยายตัวทำให้ปวดศีรษะขึ้นมาได้
ดังนั้นถ้ามีโรคไมเกรนประจำตัว หรือต้องการจะเลิกดื่มกาแฟก็ควรจะค่อย ๆ
ลดการดื่มทีละน้อยเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนอาการปวดศีรษะ
สำหรับอาการท้องอืดท้องเฟ้อและมีลมในกระเพาะอาหารมากมักมีสาเหตุมาจากจำนวนกากอาหารที่ดูดซึมไม่ได้ในลำไส้เล็กและผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่มีมาก
จึงมีแบคทีเรียมาช่วยกันย่อยทำให้กลายเป็นอาหารหมักก่อให้เกิดเป็นแก๊สจำนวนมากในกระเพาะอาหารที่มีกากมากที่ย่อยสลายไม่หมดจนทำให้เกิดการหมักนี้ได้แก่อาหารที่มีเส้นใยมาก
เช่น กระหล่ำปลี บรอคเคอรี หน่อไม้ หัวหอม
รวมทั้งอาหารบางประเภทที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น เห็ด กระเทียม และต้นหอม เป็นต้น
(อินทิรา
ปัทมินทร, 2536)
อาหารที่ผู้ป่วยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารควรจะระวัง คือ นม
เพราะนมมีสารที่เป็นตัวกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามาก
ทำให้กระทบกระเทือนแผลในกระเพาะอาหาร
กาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ส่วนบุหรี่จะทำให้ร่างกายไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะซ่อมแซมบาดแผลที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร
สำหรับโรคความดันโลหิตสูงนั้นมักจะควบคู่ไปกับความอ้วน
การกินเป็นจะช่วยให้การลดน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ส่วนอาหารที่เป็นอันตรายต่อโรคความดันโลหิตสูง คือ เกลือและความเค็ม
ดังนั้นควรรับประทาน อาหารที่มีโปรแตสเซียมให้มากเพื่อลดอันตรายจากเกลือโซเดียม
และควรบริโภคผลไม้โดยเฉพาะ กล้วย ผลไม้ตากแห้ง มันฝรั่ง ผักต่าง ๆ
ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการกินเป็นคือการเลือกกินอาหารที่ถูกต้องมีประโยชน์ต่อการควบคุมสุขภาพของร่างกายให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตในเบื้องต้น
2)
ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่อยู่ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ทำงานที่สะอาด สะดวก สบาย
จึงจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต การมีที่อยู่อาศัยที่ดี
ไม่จำเป็นว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ข้อสำคัญต้องสามารถใช้สอยได้ดี
สามารถคุ้มกันภัยอันตรายจากธรรมชาติและจากคนร้ายได้
เป็นที่ผ่อนคลายอารมณ์ในยามพักผ่อนหย่อนใจ
เป็นบ้านที่มีความร่มเย็นและร่มรื่น มีอากาศบริสุทธิ์
มีเครื่องเรือนและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การนอน
และการขับถ่าย เป็นต้น การจัดสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นที่มีความสะดวกในการหยิบใช้
มีบรรยากาศที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ว่าอยู่สบายมีมุมสงบสำหรับทำงาน
เวลาพักผ่อน
การจัดที่อยู่ให้อยู่ได้อย่างสบายและสะอาด
เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพของผู้อยู่อาศัย
การจัดเก็บให้สะอาดงามตาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดรักที่อยู่
ทำให้เกิดความสุขแก่ตนและผู้ที่อยู่ด้วยกันดังคำกล่าวที่ว่า
“บ้านคือวิมาน
ที่นำความสุขสำราญมาสู่ผู้อยู่อาศัย”
ในทำนองเดียวกันสถานที่ทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายไม่เครียด
สถนที่ทำงานที่รกรุงรัง แออัด ย่อมทำให้สุขภาพจิตเสื่อมเช่นกัน
3)
ครอบครัว การสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น และมีความสมบูรณ์ของครอบครัว
คือคุณภาพชีวิต
เมื่อชายและหญิงตกลงใจที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวด้วยความหวังว่าจะสร้างครอบครัวอย่างมั่นคงด้วยความเข้าใจกันและกัน
ความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ดังนั้นการให้อภัยกัน การมีความรับผิดชอบร่วมกัน
การวางแผนครอบครัวให้มีบุตรในเวลาที่ต้องการจะทำให้เกิดความรักและช่วยกันให้ความเอาใจใส่ดูแลบุตร
การวางรากฐานด้านสุขภาพจิตที่ดีให้แก่เด็ก คือ
การให้ความรักความอบอุ่นด้วย การสัมผัสด้วยการกอดเป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก
การให้สิ่งที่ต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ได้กินอาหารเมื่อหิว
ได้รับการปลอบโยนเมื่อมีความทุกข์มีความสำคัญในการเริ่มชีวิตที่มีคุณภาพ
การเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีของสังคมต้องปลูกฝังความมีวินัย
พ่อแม่ต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเด็กจึงจะเรียนรู้ว่าอะไรถูก
อะไรผิดและอะไรเป็นคุณค่าของชีวิต เป็นต้น
สภาพดังกล่าวก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวช่วยให้เกิดความพร้อมที่จะไปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นนอกเหนือครอบครัวและในสังคม
จากการศึกษาปัญหาทางสังคมของเด็ก ฟรอกซ์ครอฟท์ และโลว์
(Froxcroft & Lowe, 1995,
pp. 159-177) พบว่าเด็กที่ดื่มสุรา
ติดยาเสพติด และสารพิษต่าง ๆ
มักจะเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูปล่อยปละละเลยหรือไม่ก็เข้มงวดเกินไป
เยาวนาฎ
ผลิตนนท์เกียรติ์
(2536, หน้า
11
-
12)
กล่าวว่าเนื่องจากสภาพของสังคมในปัจจุบันทำให้การมีเวลาให้แก่กันและกันในครอบครัวลดน้อยลงไป
เพราะต้องทุ่มเทเวลาให้แก่การทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว
บางคนต้องทำงานต่างถิ่นนาน ๆ จึงจะได้มีเวลามาพบครอบครัวสักครั้ง
ชีวิตในครอบครัวจึงเกิดช่องว่างของความรักความผูกพันกันในครอบครัวอาจจะเริ่มลดน้อยลง
การที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างดูแลตนเอง ต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ
ด้วยตนเองเพียงลำพังทำให้สุขภาพจิตของคนในครอบครัวเสื่อมโทรมลง
รู้สึกว่าชีวิตเงียบเหงา ว้าเหว่ไร้ที่พึ่งขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ
ให้ประสบผลสำเร็จ บางคนหาสิ่งทดแทนผิด ๆ เช่น
หันเข้าคบหากลุ่มเพื่อนรักสนุกจนพากันไปติดยา
ติดโรคซึ่งกว่าที่ครอบครัวจะรู้ก็สายเกินแก้ไขเสียแล้ว
ดังนั้นเมื่อมีเวลาอยู่กับครอบครัวสมาชิกทุกคนจึงควรที่จะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างมีคุณค่าโดยคำนึงถึงจิตใจของคนในครอบครัวให้มากขึ้น
ทำกิจกรรมที่แสดงถึงความสนใจในครอบครัว
ห่วงใยในความทุกข์สุขและความเป็นอยู่ แสดงความรัก
ความปรารถนาดีและรู้จักปรับตัว ผ่อนปรน
ให้สามารถเข้ากันได้อย่างมีความสุขตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน
สำหรับสามีและภรรยาที่ต้องแยกจากกันจากกัน
เพื่อไปทำงานในต่างถิ่นต่างที่นั้น สุภัททา
ปิณฑะแพทย์
(2539, หน้า 2-3)
เสนอแนวปฏิบัติสำหรับการครองชีวิตครอบครัวไว้ “เชื่อ
5 อย่า 6.”ดังนี้
เชื่อที่
1
คือ เชื่อใจ ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน
มีความไว้วางใจกันจะทำให้มีความสุขไม่คอยหวาดระแวงสงสัย
เชื่อที่
2
คือ เชื่อมั่น
ความเชื่อมั่นว่าคู่ชีวิตของตนเป็นผู้ที่มีความสามารถในการดำเนินชีวิตได้อย่างไม่หลงทางและเชื่อมั่นในความดีของกันและกัน
ซึ่งจะทำให้เกิดความสบายใจและมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน
เชื่อที่
3
คือ
เชื่อคำ หมายถึงการให้ความเชื่อถือในคำพูดของกันและกัน
เป็นการแสดงความไว้วางใจกัน ถ้าไม่เชื่อคำพูดที่บอกเล่าให้กันฟัง
เมื่อมีผู้อื่นเข้ามาเล่าเรื่องที่ทำลายชีวิตครอบครัวก็อาจจะทำให้เกิดการโต้เถียงกันขึ้นได้
แต่ข้อสำคัญต้องมีการเปิดใจให้ข้อมูลที่แท้จริงให้กันและกันด้วย
เชื่อที่
4
คือ
เชื่อฟัง การเชื่อฟังและเคารพในความคิดและเหตุผลของกันและกัน
ทำให้ไม่ขัดใจกัน การยอมรับหรือการทำตามคำขอร้องไม่ใช่การยอมแพ้
การเชื่อฟังจะขจัดความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกันทางด้านความคิด
เชื่อที่ 5 คือ
เชื่อตน
มีความเชื่อในความดีของตนว่าได้ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างเต็มที่แล้ว
อย่าที่ 1
อย่าโกรธก่อนจาก เมื่อถึงคราวที่ต้องจากกัน เช่น ต้องเดินทางไปราชการ
จากกันด้วยดี ถ้ามีอารมณ์โกรธต้องสลายความโกรธทันที
ให้พูดดีต่อกันแสดงความไม่โกรธให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้
เพื่อจะได้ไม่พกพาความขุ่นมัวออกจากบ้านไป
อย่าที่
2
อย่าพรากก่อนลา การจากกันต้องมีการบอกกล่าวล่ำลากัน
อย่าที่
3
อย่ารั้งติดต่อ เมื่ออยู่ไกลต้องติดต่อมา เพื่อซักถามเรื่องราวของครอบครัว
ให้รู้ว่าเป็นห่วง
อย่าที่
4
อย่ารอมาหา เมื่อถึงเวลาต้องกลับมาหากันทันที
อย่าที่
5
อย่าท้าอวดดี ไม่ท้าทายหรือแสดงท่าทางหยิ่งโอหัง อวดดี
อย่าที่
6
อย่าคลุกคลีกับสิ่งหายนะ ไม่เล่นการพนันและผิดศีล
การมีชีวิตครอบครัวที่ดีคือคุณภาพชีวิต
ทั้งครอบครัวจะต้องช่วยกันสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ด้วยการปฏิบัติต่อกันด้วยรัก ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ที่สุด
การแสดงความรักต่อกันด้วยการให้ในสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการ
ไม่ใช่คอยรอเรียกร้องแต่ในสิ่งที่ตนต้องการแต่เพียงอย่างเดียว ความเข้าใจในหน้าที่ของตนนี้เองจะสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้และเป็นครอบครัวที่เป็นสุขที่มีความมั่นคงของชีวิต
4)
สุขภาพกายและจิต สุขภาพกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ
สุขภาพจิตที่ดีคือผู้ที่มีคุณภาพชีวิต ความสบายใจ คิดดี มีความประพฤติชอบ
คิดเป็น คือ ความคิดที่ทำแล้วจะให้ผลดี การดำเนินชีวิตเป็น
หมายความว่าดำเนินชีวิตแบบพอดีและมีสติ
เหมือนดังที่พุทธเจ้าตรัสสอนว่าให้เดินสายกลางซึ่งทางศาสนาพุทธ
เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือ การดำเนินชีวิตอย่างพอ ดี ๆ ทำให้ไร้ทุกข์
เป็นอิสรภาพจากการ ประพฤติชอบ รู้จักจับประเด็นข้อมูลที่ได้มา
รู้จักนำมาใช้ให้ตรงแก่เรื่องและทันเหตุการณ์ ปฏิบัติแล้วแก้ปัญหาได้
ดังนั้นผู้ที่มีสุขภาพ ทางกาย อารมณ์ ปัญญา และสังคมที่ดี คือ
ผู้มีสุขภาพส่วนตนดีและผู้มีคุณภาพส่วนตนดีย่อมช่วยให้สวัสดิภาพส่วนรวมดีด้วย
การมีสุขภาพดีอาจสร้างขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกาย
ทำให้ร่างกายแข็งแรง
มีการขับถ่ายดีขึ้น และมีความต้านทานโรคสูง ทางด้านจิตใจแจ่มใส ลดความเครียด
นอนหลับง่ายและสบาย (ปรีชา ธรรมา,
2547ก,
หน้า 39)
การออกกำลังกายควรใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายนอกจากจะทำให้มีการไหลเวียนของโลหิตดี
และมีการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทำให้มีความแข็งแรงแล้ว
การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายผลิต
สารมหัศจรรย์
ซึ่งทางการแพทย์ยอมรับว่าเป็นยาระงับประสาทขนานเอกเพราะการออกกำลังกายสามารถทำให้สมองหลั่งสารมหัศจรรย์ที่มีชื่อเรียกว่า
สารเอนดอร์ฟินส์ (endorphins)
ซึ่งเป็นสารที่สามารถระงับความเจ็บปวด (pain killer)
ได้ การออกกำลังกายจนถึงจุดหนึ่งจึงทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น (Myers,
1990, p. 26)
5)
การศึกษาเป็นการให้โอกาสเรียนรู้ และเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่มนุษย์
ปัจจุบันทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะได้รับการศึกษาในขั้นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิต
ทุกคนต้องสามารถอ่านออก เขียนได้ ทำเลขได้
ซึ่งเป็นเครื่องมือให้สามารถศึกษาและเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้ตลอดชีวิต
การศึกษาจึงเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย
เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาจึงต้องการผู้ชี้แนะ
ให้คำปรึกษา ถ้ามีการจัดการเรียนการสอน
ก็ต้องดำเนินการโดยครูดีมีความรู้ในศาสตร์และศิลป์ที่จะนำผู้เรียนไปสู่จุดหมายปลายทางได้
รู้จักกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความอยากรู้อยากเห็นในสาระที่จำเป็น
รู้จักเลือกใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ผู้เรียนรักการเรียนรู้
อบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี
มิใช่ให้มีแต่วิชาความรู้เท่านั้นต้องปลูกฝังให้รักการเรียน
เป็นผู้มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนและความใฝ่รู้คู่คุณธรรม
คุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ต่อไปในขั้นสูงขึ้นไป
6)
เศรษฐกิจคือชีวิตในการทำงานเพื่อหารายได้ ผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ยึดหลัก
เศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตเนื่องจากมีความรับผิดชอบในหน้าที่ในการผลิตและการบริโภคเพื่อสนองความต้องการของร่างกาย
ความฉลาดในการบริโภคคือการบริโภคอย่างพอดี
ต้องรู้ว่าอะไรเป็นความต้องการที่แท้จริงและจำเป็นต้องบริโภค ผู้ผลิตคือผู้ที่สร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้บริโภค
ผู้ผลิตที่มีคุณธรรมจึงเป็นผู้สร้างประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น
การทำอาชีพที่สุจริตและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม เช่น การปลูกพืชผักเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารไว้สำหรับขายก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค
โดยไม่ใช้สารพิษที่เป็นอันตราย การเป็นผู้ผลิตที่ดีหรือผลิตเป็นจะต้องไม่ผลิตสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้อื่น
ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โทษที่เกิดจากการบริโภคผลผลิต
คือความเสียหายคือการที่คุณภาพชีวิตถูกทำลายซึ่งไม่อาจนับค่าเป็นทรัพย์สินได้
นอกจากนี้การรักษาทรัพยากรไม่ให้เสียหายหรือถูกทำลายไปโดยเปล่าประโยชน์
การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีความสอดคล้องในยุคโลกาภิวัตรเพื่อให้เกิดคุณค่าและมีความสมดุลกับพื้นฐานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มคุณค่าของสินค้าทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น
7)
อาชีพที่สุจริตทำให้ผู้ประกอบอาชีพมีความปลอดภัยและมีชีวิตที่มีคุณภาพ
ประเทศชาติที่มีแต่พลเมืองที่ทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริต
บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อย งานอาชีพเป็นเครื่องมือทำมาหากิน
สร้างเศรษฐกิจ
งานอาชีพสุจริตคืองานที่ไม่ก่อความเดือดร้อนให้
แก่ตนเองและผู้อื่น
ไม่ทำให้สังคมเกิดความไม่สงบ
ผู้กระทำผิดคิดมิชอบจะไม่มีความสุขใน
การดำเนินชีวิตที่ปกติเนื่องจากต้องคอยระวังตัวกลัวจะถูกจับได้
เสียเกียรติยศชื่อเสียงของตนเองและวงศ์ตระกูล
บางครั้งสินทรัพย์ที่หาได้ก็ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้จึงไม่ก่อประโยชน์
ผู้ประกอบอาชีพสุจริตจะมีสุขภาพจิตดีเพราะไม่ต้องคอยระวังว่าจะมีการล้างแค้นเนื่องจากไม่มีศัตรู
ต้องตระหนักว่าการงานอาชีพต่าง
ๆ นั้นมีความเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
ถ้าไม่มีผู้ขายก็จะไม่มีผู้ซื้อ ถ้าไม่มีคนทำสวนก็ไม่มีผัก พืช ผลไม้
ถ้าไม่มีชาวนาก็จะไม่มีข้าว ถ้าไม่คนทอผ้าก็ไม่มี
เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
งานเหล่านี้คนหนึ่งคนจะทำทุกอย่างไม่ได้
อาชีพสุจริตทุกอาชีพจึงควรได้รับการยกย่องและนับถือว่าเป็นงานที่มีเกียรติ
ให้เกียรติกับทุกคนตามบทบาทและหน้าที่ผู้แสดงตนไม่ถูกต้องตามบาทบาทและหน้าที่มักเป็นผู้สร้างปัญหาดังแสดงออกในภาพที่
11.2
ภาพที่
11.2
การแสดงบทบาทและหน้าที่ตามสถานการณ์ ที่มา
:
การ์ตูนตลาดตลก, 2540, หน้า 5
8)
การมีคุณธรรมและจริยธรรม
คุณธรรม คือ การกระทำที่ให้คุณประโยชน์ จึงมักเรียกว่า คุณงามความดี จริยธรรม
คือ การยึดคุณธรรมและนำมาปฏิบัติธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนไว้ล้วนแต่เป็นคุณธรรม
ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ฯลฯ คุณธรรมเป็นแกนของจริยธรรม
การแสดงออกด้านจริยธรรม เช่น
นิสัยรักงานเป็นจริยธรรมมีความสำคัญมากในทุกวงการ
เมื่อมีนิสัยรักงานย่อมเกิดความหมั่นเพียรที่จะทำให้งานสำเร็จเคร่งต่อระเบียบวินัย
มีความอดทน รู้จักขั้นตอนของงานและรู้จักจัดการให้งานเดิน
จริยธรรมอื่น ๆ จะตามมาด้วย เช่น ความตรงต่อเวลา ความเป็นสุขกับงาน
ความสงบและความมีจิตใจมั่นคง
คุณธรรมที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตที่เป็นสุข ได้แก่ พรหมวิหาร
4
ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คุณธรรมนี้ก่อให้เกิดความรัก
ความสามัคคี การช่วยเหลือกัน
และมีความยุติธรรมซึ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันและสร้างสรรค์สังคมที่มีสันติสุข
ส่วนคุณธรรมที่คุ้มครองโลก คือ หิริ คือ ความละอายบาป
โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป
ช่วยไม่ให้คนทำผิดทั้งในที่ลับและที่แจ้งผู้ที่ทำงานเพื่อส่วนรวมแต่ถ้าขาดคุณธรรมทั้งสองประการนี้ก็จะมีการฉ้อโกงทุจริตเกิดขึ้นทำความเดือดร้อนให้คนอีกมากมาย
ที่รุนแรงที่สุดคือทำให้ส่วนรวมเสียหาย
การมีคุณธรรมจะทำให้จิตใจสดใสปราศจากความขุ่นมัว ที่เป็นบ่อเกิดของความทุกข์
9)
รู้จักหาความรู้มาแก้ปัญหาและคลายทุกข์ด้วยกุศลวิธี
ปัญหาคือเรื่องหรือสิ่งที่มีอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายได้
ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข ปัญหามักจะมีมากในหมู่คนที่ประมาทหรือขาด
“การมองเห็นทุกสิ่งตามเป็นจริง"
ซึ่งทำให้แก้ปัญหาผิดพลาด คือ
แก้ไขไม่ได้ ดังนั้นเมื่อปัญหาเกิดมักจะมีทุกข์ตามมา
ความทุกข์จะหนักหรือเบาก็ขึ้นอยู่กับการมองทุกข์นั้น ๆ เช่น
การจากไปของผู้ที่เรารักเป็นทุกข์
ถ้ายอมรับสภาพความเป็นจริงว่าการพลัดพรากเป็นของธรรมดา
ทุกคนต้องตายไม่เร็วก็ช้า
การตายของผู้ที่เจ็บไข้ทรมานอย่างหนักเป็นการพ้นทุกข์
ดังนั้นก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียใจหรือทุกข์
เมื่อมีทุกข์ก็ต้องหาหนทางในการดับทุกข์หรือคลายทุกข์
ใช้กุศลอุบายเป็นวิธีคลายทุกข์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าระงับทุกข์ด้วยความโกรธ
ความพยาบาท ก็เป็นการใช้อกุศลวิธีที่จะต้องทำให้เกิดทุกข์อีกหลายเท่า
ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ดีและมีประสิทธิภาพคือการทำให้ปัญหานั้น ๆ
หลุดพ้นไปได้อย่างแท้จริงไม่วนเวียนกลับมาเป็นปมปัญหาในขั้นอื่น ๆ อีกต่อไป
10)
รู้จักตัดสินใจ
การตัดสินใจต้องเริ่มด้วยความรู้ คือรู้ว่าอะไรควรทำ เพราะเหตุใด อะไรที่ไม่ควรทำ
เพราะเหตุใด เมื่อทำแล้วอะไรจะเกิดตามมา นอกจากความรู้แล้วยังต้องใช้ประสบการณ์
จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับตนเองและผู้อื่นมาใช้เป็นเกณฑ์พื้นฐานในการตัดสินใจด้วย
รวมทั้งบทบาท หน้าที่ มารยาทและพฤติกรรมทางสังคมจะได้ไม่ผิดพลาด
หรือถ้ามีความผิดพลาดก็ให้มีน้อยที่สุด
การไม่กล้าตัดสินใจลงไปทำให้เกิดความเครียด
เพราะสิ่งที่ต้องกระทำยังคงอยู่แต่ถ้าตัดสินใจไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก
11)
ผูกมิตรและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความรู้สึกว่าต้องการที่จะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม
การอยู่ร่วมกันจำเป็นจะต้องใช้ทักษะของการมีมนุษยสัมพันธ์อย่างยิ่ง
แต่ข่าวฆ่ากันตายอย่างทารุณในหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน คำกล่าวที่ว่านั้น
แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ในจิตใจของคนซึ่งเมื่อศึกษาจะพบว่าเกิดจากการที่บุคคลในกลุ่มมีสุขภาพจิตไม่ดี
เกิดความรู้สึกที่ไม่พึงพอใจกับผู้คนที่อยู่ในกลุ่มของตนเอง
เพราะผู้มีสุขภาพจิตดีนั้นอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุขการที่จะอยู่รวมกันอย่างมีความสุขนั้น
พุทธภาษิตในเรื่อง สังคหวัตถุ
4
ได้ให้ข้อคิดไว้เป็นหลัก ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดังนี้ คือ
-
ทาน คือการให้ การให้แบ่งปัน สิ่งที่มีอยู่ให้แก่กันและกัน
-
ปิยวาจา การพูดจาดี คือการใช้วาจาที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกดี
มีความสุขที่ได้สนทนา สามารถแสดงความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
-
อัตถจริยา คือ
การให้ประโยชน์แก่กันและโดยไม่แสดงความเห็นแก่ตัว
-
สมานัตตา คือ
มีความเสมอต้นเสมอปลายในการคบหากันซึ่งถ้าผู้ใดปฏิบัติตามจะช่วยให้อยู่ร่วม
กับผู้อื่นได้อย่างสันติ
ทุกคนจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรหรือเพื่อนแท้
(true good friend)
ผู้หวังดีคอยตักเตือนให้ทำดี
การขาดกัลยาณมิตรทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกเดียวดาย กัลยาณมิตรนั้นก็หาได้ด้วยการแสดงความเป็นกัลยาณมิตรแก่ผู้อื่น
การคบหากับผู้อื่นนั้นจะต้องคิดเสมอว่ามนุษย์แต่ละคนแตกต่างกันเพราะได้รับการเลี้ยงดูมาต่างกันอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างกัน
บุคคลมีวิธีการคิด วิธีพูดและ การแสดงออกไม่เหมือนกัน
การเรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์ และรู้หลักธรรมชาติของความจริง
ก็จะให้อภัยกันได้มากขึ้น และการอยู่ด้วยกันได้ดีขึ้น
12)
แสวงหากิจที่มีประโยชน์ให้เกิดระโยชน์เป็นการช่วยให้เกิดความสุข
คำกล่าวที่ว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน หรือ
ทำดีได้ดีอาจจะมีผู้ที่คิดว่าไม่เป็นความจริงเสมอไปก็ได้
การที่บุคคลคิดอย่างนั้นก็อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ไตร่ตรองถึงความจริงและความเป็นไปได้ขณะนั้น
เพื่อให้เกิดความสุขในการทำประโยชน์ ดังนั้นการทำความดีแล้วได้ผลดีต้องมีองค์ประกอบ
3
ข้อ คือ
(1)
ต้องทำดีให้สมบูรณ์ ด้วยกาย วาจา และใจ
(2)
ต้องทำดีให้เหมาะสม ตามเวลาและโอกาส
(3)
ต้องทำดีอย่างสม่ำเสมอ มีความเสมอต้น เสมอปลาย
ความตั้งใจที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่ส่วนรวมเป็นความสุขใจ
สร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง
การทำประโยชน์อาจทำได้หลายอย่างจะทำด้วยกริยา วาจา ท่าทาง
เพื่อประสานประโยชน์ให้แก่กัน การให้กำลังใจและเป็นที่ปรึกษา
มีความเอื้ออาทรต่อกัน แสดงความมีน้ำใจ
การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้ชราหรือเด็กเล็ก แม้จะเป็นประโยชน์เพียงเล็กน้อยแต่ก็แสดงความมีน้ำใจซึ่งช่วยให้เกิดความปิติแก่ทั้งฝ่ายผู้รับและผู้ให้
13)
การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาตนเอง
ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นการสร้างคุณค่าแก่ผู้เป็นเจ้าของเวลา
การดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพต้องการการพัฒนาตนเอง การใช้เวลาว่าง
เพื่อศึกษาหาความรู้เป็นการพัฒนาตนเองที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
เช่น
การอ่านหนังสือที่ให้ความรู้แก่ตนหรือฝึกฝนหาความชำนาญในงานอดิเรกหรือจะใช้เวลาว่างฝึกสมาธิ
ทำจิตให้สงบ เพื่อทำให้จิตมีความมั่นคง มีพลัง
การใช้เวลาว่างเดินหรือออกกำลังกายก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด
14)
ปลอดยาเสพติดเพื่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพด้วยการหลีกเลี่ยงยาเสพติดประเภทต่าง
ๆ ที่ทำให้ชีวิตขาดคุณภาพและเสื่อม
ยาเสพติดเป็นสารพิษที่เป็นภัยต่อร่างกายและเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
การติดยาเสพติดทำให้ร่างกายอ่อนแอและมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์รวมทั้งทำให้สมองเสื่อม
จิตใจกระวนกระวายเป็นคนที่ไม่มีความปกติสุขในการดำเนินชีวิตได้ ผู้ที่ติดยา
หรือ เสพยาเสพติดนั้นมักจะเป็นบุคคลที่มีจิตใจอ่อนแอ
โดยคิดว่ายาจะสามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของอารมณ์ที่เกิดขึ้นจนเป็นปัญหาที่คิดว่าแก้ไขไม่ได้
และคิดว่าการใช้ยาเสพติดเข้ามาช่วยบรรเทาความคิดฟุ้งซ่านจะทำให้ตนมีอาการดีขึ้น แท้ที่จริงกลับจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้แก่ตนเองรวมทั้งนำความเสียใจมาสู่ครอบครัวและบุคคลที่รักของเราอีกด้วย
ในโลกของเราสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ
การติดตามความก้าวหน้าต่าง ๆ ช่วยป้องกันไม่ให้เราอยู่ล้าหลังและเสียประโยชน์
การพัฒนาตนเองนั้นสำคัญยิ่งกว่าพัฒนาผู้อื่นเพราะตนเองย่อมเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงผู้อื่น
ควรจะหมั่นถามตัวเองว่าเราทำตัวของเราให้ดีกว่าที่เราเคยเป็นอยู่หรือเปล่า
ปัจจัยทางสังคมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
สังคมของมนุษย์มีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณภาพของชีวิตโดยเฉพาะในด้านสุขภาพจิตของบุคคล
ลักษณะของสังคมที่ก่อให้เกิดสุขภาพจิตที่สมบูรณ์
1.
สังคมมีระเบียบวินัย ระเบียบ คือ
แบบแผนที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติ
หรือข้อกำหนดข้อบังคับที่บัญญัติขึ้นเป็นแนวปฏิบัติ เช่น ระเบียบมีว่า ต้องเข้าแถวเพื่อซื้อบัตร
ผู้ที่มาถึงก่อนอยู่ข้างหน้าแถวย่อมซื้อบัตรได้ก่อนคนที่มาทีหลัง
ต้องข้ามถนนที่ทางม้าลาย ต้องขับรถยนต์ตาม
กฎจราจร ต้องจอดให้คนเดินข้ามถนนที่ทางม้าลาย ความมีระเบียบก็ทำให้การจราจรสะดวก
รวดเร็วขึ้น
คนเดินเท้าที่ข้ามถนนก็จะปลอดภัย การมีวินัยเกี่ยวกับระเบียบเป็นสิ่งที่สังคมควรจะต้องให้ความสำคัญ
เพราะวินัยหมายถึงการอยู่ในระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ
ในปัจจุบัน
รัฐบาลได้เร่งจัดระเบียบสังคมเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพกฎหมายบ้านเมือง
เป็นสังคมที่อยู่รวมกันอย่างมีระเบียบ
การจัดระเบียบสังคมเป็นโครงการที่ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย
ถ้าทุกคนในสังคมมีระเบียบวินัยสังคมนั้นก็จะมีความเรียบร้อย ความสะดวก
ง่ายดายต่อการดำเนินชีวิตหรือการบริหารของรัฐ
โทษหรืออันตรายที่เกิดจากการประพฤติผิดวินัยก็จะลดน้อยลงไป
ดังนั้นสังคมจึงต้องมีทั้งระเบียบและวินัยที่คนในสังคมจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ชีวิตในสังคมนั้น ๆ จึงจะไม่ยุ่งเหยิงสับสน
2.
มีกฎหมายที่เป็นธรรม
กฎหมาย คือ
บทบัญญัติที่รัฐบาลตราขึ้นไว้เพื่อให้ใช้บริหาร
กิจการบ้านเมือง
และบังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกันเช่น มีกฎหมายบังคับให้ราษฎร
เสียภาษีรายได้
เพื่อรัฐบาลจะได้นำเงินภาษีมาใช้บริหารให้บ้านเมืองอยู่
สะดวกสบายยิ่งขึ้น เข้าหลักที่ว่า
“น้ำไหล
ไฟสว่าง
ทางดี มีงานทำ”
บุคคลมีสิทธิเดินทางโดยใช้ถนนได้ ทุกคนมีสิทธิที่ผู้ใดจะละเมิด มิได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
บุคคลจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องร้องผู้รังแกเขาได้
พลเมืองไทยทุกคนที่มีสัญชาติหรือเชื้อชาติไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย
และมีฐานะเท่าเทียมกัน ผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายจะต้องมีจิตใจเป็นธรรม ตรากฎหมายที่ให้มีความเสมอภาค
ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของตน หรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ผู้รักษากฎหมายก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสม่ำเสมอ
และในขั้นสุดท้ายผู้ใช้อำนาจกฎหมาย
หรือตุลาการก็ต้องวินิจฉัยตามหลักความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด ยึดกฎหมายและมีธรรมเป็นหลัก
ดังนั้นโดยทั่วไปกฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตนว่าความให้ได้ ผู้ที่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษาของ
ศาลชั้นต้นอาจร้องเรียนศาลที่สูงขึ้นไปคือศาลอุทธรณ์
และอาจร้องเรียนต่อไปยังศาลฎีกา
ในปัจจุบันอาจจะยังมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอยู่ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน เช่น มีการเลือกปฏิบัติ
หรือการลิดรอนสิทธิสตรีทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมบุรุษซึ่งเป็นความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ
นอกจากนี้ยังมีความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นโดยเฉพาะในเรื่องการกระจายรายได้ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นปัจจัยต่อการดำรงชีวิต
3.
สังคมให้บริการดี มีสวัสดิการเพียงพอ
สังคมจะต้องให้บริการที่จำเป็นแก่ประชาชน
ขณะนี้รัฐบาลได้จัดสรรสวัสดิการให้บริการเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นการให้สวัสดิภาพและความมั่นคงให้แก่ชีวิต
เช่น ให้ที่อยู่อาศัยแก่เด็กและคนชราที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง
ให้บริการด้านรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บไข้
การบริการนี้ต้องเป็นการบริการที่มีคุณภาพให้ผู้รับได้รับความสุขและพอใจ การบริการของรัฐต้องมีการบริหารจัดการที่รัดกุมและยุติธรรม
ในด้านการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินอันเนื่องมาจากภัยพิบัติต่าง ๆ
เป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากภัยต่าง ๆ เช่น
ไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด
การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เคราะห์ร้าย เช่น ให้อาหาร
ให้วัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยจึงเป็นสวัสดิการเร่งด่วนเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น
จากกฎหมายประกันสังคมที่ออกมา ใน พ.ศ.
2533 ย่อมแสดงถึงเจตนารมณ์ที่สังคมต้องการจะเกื้อกูลให้ประชาชนได้รับความสุขและปลอดภัย
นอกจากนี้การให้บริการในด้านสาธารณูปโภค เช่น ตัดถนน
น้ำ
และไฟฟ้า เป็นต้น
เพื่อความสะดวกสบายเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน
4.
ปลอดภัยจากผู้ร้ายและอบายมุข เนื่องจากอาชญากรรมและอบายมุขนั้นเป็นสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพจิตของประชาชนมากที่สุดเนื่องจากทำให้เกิดอาการหวาดกลัว
การทำร้ายกันอาจเกิดมาจากความเครียดจนขาดสติ
จึงทำให้มีคดีที่น่าสลดใจเกิดขึ้นเสมอ ๆ
หรือแม้แต่การกระทำที่โหดร้ายซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เช่น
พ่อฆ่าลูกเพราะต้องการเงินประกันชีวิตลูก เพราะความขัดสนใน
การดำรงชีวิต
ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นการสร้างความรู้สึกที่ตึงเครียดในอารมณ์
ทำให้มีสภาพที่ไม่พร้อมจะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เนื่องจากความวิตกกังวล
การใช้อบายมุขมาเป็นเครื่องช่วยให้จิตใจผ่อนคลายแต่ก็เป็นการสร้างความหวังอย่างไร้เหตุผล
ทำให้ผู้ฝักใฝ่ก้าวลงสู่ความหายนะมากกว่าการสร้างคุณภาพชีวิต
การก่ออาชญากรรมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ที่มั่วสุมกับอบายมุขอย่างมีนัยสำคัญเป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป
ภาพที่ 11.3
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นปัจจัยหนึ่งในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ที่มา
:
การ์ตูนตลาดตลก, 2540, หน้า
68
วัยรุ่นที่ติดยาเสพติดและวัยรุ่นที่มีจิตใจก้าวร้าวเป็นอันธพาลหรือเป็นโจร
ไม่พากเพียรใฝ่รู้ เป็นภัยที่ร้ายแรงต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าชาติบ้านเมืองมีวัยรุ่นที่ไม่สมประกอบทางด้านพฤติกรรม
ก็น่าจะเป็นตัวพยากรณ์อนาคตของชาติได้เป็นอย่างดี
เพราะจะได้ไม่มีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเข้ามารับผิดชอบบ้านเมืองในอนาคต
รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการเพื่อเร่งปราบปรามยาเสพติดซึ่งได้ผลเป็นอย่างยิ่งนับว่าเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิตในหลายด้าน
อบายมุขหลายชนิดเกิดขึ้นโดยทั่วไป
เช่น ม้าแข่ง
สลากกินแบ่งรัฐบาล การเล่นหวย
เล่นพนันบอล
และการพนันทุกชนิดล้วนเป็นหนทางที่นำไปสู่ความหายนะทั้งสิ้น
ชีวิตจะเป็นอยู่ดี สังคมจะมีสันติสุขจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของบุคคลนั้นจะเป็นผู้สร้างและเป็นผู้กำหนดเอง
5.
มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกื้อกูล
ธรรมชาติและระบบนิเวศน์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันกับมนุษย์ ต้องพยายามที่จะรักษาไว้ให้สมดุลที่สุด
ในปัจจุบันได้มีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง
การที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายเกิดเป็นมลภาวะขึ้นมาก็จะทำลายสุขภาพของมนุษย์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
ประเทศไทยประกาศยอมรับให้วันที่
5 มิถุนายน
เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อปลูกจิตสำนึกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต
เมื่อมนุษย์ได้เข้าไปกอบโกยและแสวงหาผลประโยชน์
จากทรัพยากรเหล่านั้นอย่างมากเกินความพอดี
โดยขาดจิตสำนึก และขาดการถนอมรักษา
ยังผลให้ทรัพยากรที่ธรรมชาติสร้างขึ้นไว้ร่อยหรอ
เสื่อมโทรมไปอย่างรวดเร็วโดยไม่อาจฟื้นฟูทดแทนได้ทัน
ผลกระทบที่เลวร้ายก็จะสะท้อนกลับมาสู่มนุษย์
รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีนโยบายสร้างกลุ่มเพื่อให้ประชาชนช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
มีการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติเพื่อทดแทนป่าที่ถูกทำลาย
ซึ่งอย่างไรก็ตามไม่มีทางที่จะทำให้อุดมสมบูรณ์ได้เหมือนเดิมได้ ปัญหามลพิษต่าง
ๆ ยังคงมีอยู่มาก การช่วยกันรักษาป่า ต้นน้ำ ลำธาร
ก็เพื่อจะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีเพราะการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้ชีวิตมีคุณภาพ
จากข้อคิดดังกล่าวแสดงว่า
การที่จะให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือกันของคนในชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งความจำเป็นพื้นฐานที่สร้างเสริม
คุณภาพชีวิตแก่ทุกคน ไม่มีใครอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวจึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน
และต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเพื่อสร้างปัจจัยทางสังคมที่ดีด้วย
การแสวงหาความสุขเพื่อคุณภาพชีวิต
มนุษย์ในสังคมย่อมต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายในชีวิต
ไม่มีผู้ใดที่จะไม่มีปัญหาใด ๆ เลย
ดังนั้นจึงควรที่จะต้องแสวงหาวิธีการเพื่อที่จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ
เหล่านั้นหลุดพ้นไปได้โดยเร็ว
และในขณะเดียวกันก็ควรที่จะต้องรู้จักวิธีการที่จะแสวงหาความสุขให้แก่ตนเองด้วย
1.
แหล่งที่มาของความสุขที่แสวงหาได้ด้วยตนเอง
มีหลายรูปแบบตามลักษณะที่มาของความสุขออกเป็น
2 ประเภทใหญ่ ๆ (อมรากุล อินโอชานนท์,
2536, หน้า 37)
คือ
ประเภทแรก ความสุขที่ต้องหาซื้อด้วยเงิน
เช่นความสุขจากการท่องเที่ยว การกินอาหารในบรรยากาศดี
ๆ การซื้อสิ่งของต่าง ๆ เพื่อการใช้งาน เพื่อการทุ่นแรง เช่นเครื่องซักผ้า
เตารีดเตาแก๊สหุงต้ม หรือการซื้อเพื่อการให้ความสุขสนุกสนานแก่ครอบครัว เช่น
วิทยุ โทรทัศน์ บางครั้งการใช้เงินซื้อหาสิ่งต่าง ๆ
เพื่อเก็บสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลินใจหรือเพื่อนำมาประดับกายให้มีความสวยงามเป็นที่น่าเกรงขาม
การไปดูหนังฟังเพลง งานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้นำความสุขและเพลิดเพลินมาสู่บุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้
ทำให้มีความรู้สึกดีต่อการมีชีวิตอยู่
แต่อย่างไรก็ตามความสุขเหล่านี้ยังต้องประกอบไปด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการรักษาสุขภาพและการสร้างคุณภาพชีวิตในด้านความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ
เช่น ความสะอาดของบ้านเรือน เครื่องนุ่งห่มที่สะอาดและป้องกันอันตรายได้
การเลือกหาอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นต้น
ประการที่สอง
ความสุขที่ไม่ต้องซื้อหาด้วยเงินเป็นความสุขที่บุคคลสามารถแสวงหาได้ด้วยตนเอง
เช่น การมีสุขภาพที่แข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกในครอบครัวมีความสุขที่จะอยู่ร่วมกัน การได้ทำงานที่ตนพอใจและมีความสุขกับการทำงาน
การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี การมีความสุขกับการเป็นอิสระต่อตนเองและผู้อื่น ประสบความสำเร็จต่องานที่ทำ
ความสุขทางใจที่ได้รับจากการได้ทำตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้อื่น
การที่บุคคลจะแสวงหาความสุขในประการที่สองนี้ได้อย่างแท้จริงนั้นจะต้องมีความเข้าใจในความต้องการของตนเองและ ความสัมพันธ์ของตนเองต่อสิ่งแวดล้อมในสภาพที่เป็นจริงได้
เพื่อการพิจารณาที่จะปรับปรุงและสร้างเสริมความสุขให้แก่ตนเองได้อย่างแท้จริง
ภาพที่ 11.4
บุคคลควรแสวงหาความสุขที่ยั่งยืน ที่มา
:
การ์ตูนมหาสนุก, 2540, หน้า
12
เนื่องจากความสุขที่แท้จริง คือ ความสุขที่ยั่งยืนที่ไม่มีเงื่อนไข
หรือสิ่งที่เป็นปมปัญหาซ่อนเร้นอยู่ภายในให้มีอาการหวาดผวา เราสามารถจะตรวจสอบได้ว่าความสุขที่เราไขว่คว้าหามาได้นั้นเป็นความสุขที่ยั่งยืนหรือไม่ด้วยตัวของเราเอง
การแสวงหาความสุขด้วยการมีเพื่อนหรือมีสังคมที่ดีอาจกลายมาเป็นวิธีการดึงดูดเพื่อนเพื่อให้เข้ากลุ่มด้วยการใช้เครื่องล่อใจเป็นความสนุกสนาน
ความบันเทิง โดยใช้สุราหรือเครื่องดื่มมึนเมาเพื่อการนันทนาการ
จึงมีการศึกษาว่าการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา เช่น สุรา ทำให้เกิด
แรงกระตุ้นในการเข้าสังคมสูงขึ้น และมีผลทำให้ลดความเครียด
(Brodsky & Peele, 1999, pp.
187-207)
แต่การศึกษายังต้องก้าวไปสู่ปริมาณการดื่มที่จะทำให้มีความสุขอย่างแท้จริงนั้นควรจะอยู่ในขอบเขตใด
จึงจะไม่ทำลายตนเองและผู้อื่น ดังเช่น ในกรณีที่ขาดสติเพราะดื่มสุรา
ในระหว่างการขับเคลื่อนเครื่องจักยนตร์ เป็นต้น
จึงเป็นการแสวงหาความสุขที่ไม่ยั่งยืนเนื่องจากมีเงื่อนไขของการกระทำเขามาเป็นตัวกำหนด
2.
การไขว่คว้าหาความสุขอาจเป็นเรื่องยาก
ถ้าบุคคลนั้นไม่คิดที่จะแสวงหา หรือสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง
การหวังพึ่งโชคชะตาหรือสร้างความหวังจากสิ่งที่เราทำเองไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถจะพบกับความสุขได้ทั้ง
ๆ ที่ยังมีความสุขมากมายที่อยู่รอบกาย
จึงขึ้นอยู่กับตนเองว่าจะรับเอามาไว้เป็นของตนหรือไม่เท่านั้น
การพึ่งตนเองในการทำให้จิตเป็นสุขได้จะเป็นแนวทางที่ทำให้บุคคลพบกับความสุขที่ยั่งยืน
บุคคลจึงต้องหมั่นให้ข้อคิดแก่ตนเองว่าในชีวิตที่เป็นจริงนั้นทุกคนต้องเคยเผชิญกับความสุขและความทุกข์
และควรสร้างแนวทางในการที่จะให้ตนเองได้รับความสุขด้วยการพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งสิ่งแวดล้อมอื่น
ๆ ผู้ที่สามารถดำเนินชีวิตฟันฝ่ามาได้อย่างมั่นคงคือ
ผู้ที่กำชัยชนะของชีวิตไว้ได้ในกำมือของตน
สรุปท้ายบท
สุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพ
ทุกคนปรารถนาการที่จะมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข
ความเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจเมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดก็จะทำให้ผู้นั้นท้อถอยและเกิดอาการสิ้นหวังในทุกสิ่งทุกอย่าง
เมื่อถึงเวลานั้นก็จะพบว่าทุกคนพร้อมที่จะแลกทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่สมบูรณ์แต่เพียงอย่างเดียว
ดังนั้นบุคคลจึงควรที่จะแสวงหาวิธีการที่จะสร้างสุขลักษณะนิสัยให้มีความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
การสร้างสุขลักษณะนิสัยที่ดีนั้นควรเริ่มต้นในช่วงวัยเด็ก
และวัยรุ่นหรือในช่วงของวัยที่ยังไม่มีโอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ
เป็นการป้องกันไว้ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ
การสร้างลักษณะนิสัยที่ดีนั้นค่อนข้างจะมีความยุ่งยากซับซ้อน
มีองค์ประกอบหลายประการที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพของบุคคล
ทั้งที่เป็นสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจ สังคม อารมณ์
ความคิดและสติปัญญา
ซึ่งเป็นตัวแปรนำที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
นอกจากนี้ความร่วมมือกันของคนในชาติที่จะสร้างสังคมให้มีความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในสังคมก็เป็นแนวทาง
ที่ทำให้การดำเนินชีวิตมีแต่ความสุขกายสบายใจ
คุณภาพชีวิตของประชากรชาติจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของคนในชาติอีกส่วนหนึ่งด้วย
การแสวงหาความสุขทั้งจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมย่อมมีคุณค่าที่แตกต่างกัน
บุคคลสามารถที่จะเลือกแสวงหาความสุขในรูปแบบได้ที่ต้องการได้แต่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่า
ในขณะนี้ควรที่จะแสวงหาความสุขในประเภทใดจึงจะเหมาะสม
และทำให้ความสุขนั้นกลับมาเป็นพลังแห่งชีวิตทำให้สามารถต่อสู้กับชีวิต
ความเข้าใจในสภาพของตนที่เป็นจริง เข้าใจธรรมชาติของชีวิต
การปรับตัวที่ดีและการระมัดระวังที่จะรักษากายและใจให้มีสุขอนามัยที่ดีย่อมจะทำให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืน
|